มิชลิน เปิดเวทีเยาวชนประชันภาพวาด ‘สมาร์ทซิตี้’ ผลักดัน Gen Z สะท้อนไอเดีย “อนาคตเมืองอัจริยะของไทย”

สานต่อโครงการ “ศิลปะเด็กมิชลิน ปีที่ 22” เวทีประกวดวาดภาพสดชิงถ้วยพระราชทานฯ
โชว์ศักยภาพครีเอทีฟเด็กไทย พร้อมช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ต่อยอดเส้นทางศิลปิน

มิชลิน เปิดตัวโครงการ “ศิลปะเด็กมิชลิน ปีที่ 22” (Michelin Drawing Contest) เวทีประกวดวาดภาพสด ชิงถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้หัวข้อ “เมืองอัจฉริยะในฝันของหนู”  เพื่อเฟ้นหาเยาวชนตั้งแต่อายุ 7–15 ปี ที่มีความสามารถในการวาดภาพสีไม้ สีเทียน หรือสีน้ำ และความสามารถในการสะท้อนแนวคิดการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ในมุมมองของเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนปลูกฝังจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสอดแทรกการรณรงค์เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนให้กับเยาวชนไทยอีกด้วย โดยกิจกรรมดังกล่าว มีเยาวชนสนใจเข้าร่วมประกวดกว่า 500 คน จากทั่วทุกภูมิภาคได้ภาพวาดและมุมมองต่างๆ ที่เสริมสร้างความเป็นเมืองอัจฉริยะจำนวนมาก โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ศูนย์ศิลป์สิรินธร จังหวัดเลย

นายใจเพชร เจวาภัทรกุล ผู้บริหารบริษัท สยามมิชลิน จำกัด กล่าวว่า มิชลิน ร่วมกับ ดร.สังคม ทองมี อนุกรรมาธิการด้านศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา และประธานผู้ก่อตั้งศูนย์ศิลป์สิรินธร จัดโครงการ “ศิลปะเด็กมิชลิน ปีที่ 22” (Michelin Drawing Contest) ประจำปี 2562 หัวข้อ “เมืองอัจฉริยะในความคิดของหนู” การประกวดวาดภาพสีไม้ สีเทียน หรือสีน้ำ จากจินตนาการ เพื่อปลูกจิตสำนึกการขับขี่ที่ปลอดภัยผ่านภาพวาดในจินตนาการ เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์เยาวชน และสนับสนุนให้ใช้เวลาว่างอย่างเป็นประโยชน์ โดยแบ่งการประกวดออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 ระดับประถมศึกษาปีที่ 1-3 ประเภทที่ 2 ระดับประถมศึกษาปีที่ 4-6 และ ประเภทที่ 3 ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 โดยเยาวชนที่ชนะการประกวดจะได้รับพระราชทานถ้วยรางวัล สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษารวมกว่า 130,000 บาท

สำหรับรายละเอียดการประกวดวาดภาพครั้งนี้มีหัวข้อได้แก่ “เมืองอัจฉริยะในความคิดของหนู” เพื่อเฟ้นหาไอเดียการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในความคิดของเยาวชนรุ่นใหม่ อันสะท้อนภาพการส่งเสริมความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนสำหรับประชาชน ตลอดจนบรรลุเป้าหมายสูงสุดในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและรณรงค์ด้านความปลอดภัย และลดอุบัติเหตุทางการสัญจร อันเป็นปัจจัยหนึ่งสู่การพัฒนาเป็นสังคมสัญจรที่ยั่งยืน โดยมิชลินยังคงมุ่นมั่นผลักดันแนวคิดการสัญจรอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ และเชื่อว่ากิจกรรมดังกล่าว จะช่วยปลูกจิตสำนึกเยาวชนให้เข้าใจการเป็นผู้ใช้รถใช้ถนนที่ดีอย่างยั่งยืน สร้างเสียงสะท้อนและความต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ที่ผู้ใหญ่ควรให้ความสำคัญ ทั้งนี้ โครงการ “ศิลปะเด็กมิชลิน ปีที่ 22” ครั้งนี้มีเยาวชนสนใจเข้าร่วมประกวดกว่า 500 คน จากทั่วทุกภูมิภาค นายใจเพชร กล่าวสรุป

ด้าน ดร.สังคม ทองมี ประธานผู้ก่อตั้งศูนย์ศิลป์สิรินธร กล่าวว่า โครงการ ศิลปะเด็กมิชลิน หรือ Michelin Drawing Contest นี้เป็นอีกหนึ่งเวทีที่เปิดโอกาสให้กับเยาวชนได้แสดงความสามารถทางด้านงานศิลปะ เป็นโครงการที่มอบโอกาสให้กับเด็กๆ จากทั่วทุกภูมิภาค ได้มารวมตัวกัน เพื่อนำเสนอทักษะความสามารถและเทคนิคในงานศิลปะ เพื่อช่วยต่อยอดศักยภาพของเยาวชนไทยไปสู่เส้นทางศิลปินในระดับภูมิภาค ระดับประเทศ จนไปถึงระดับโลก โดยมีเยาวชนจากโครงการศิลปะเด็กมิชลินหลายรุ่นที่ได้ถูกคัดเลือกไปร่วมประกวดงานศิลปะระดับโลก และยังได้คว้ารางวัลมาเป็นเกียรติให้กับประเทศไทยจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว                 

น้องฟิสิกส์ - ด.ญ. ชลณัฐ นามจันดี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านไทยสามัคคี จ.สระแก้ว ผู้ชนะเลิศการประกวด ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 3 กล่าวว่า ผลงานที่ตนเองวาดมีชื่อว่า “เมืองออกซิเจน” โดยได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือการ์ตูนแนววิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมที่คุณแม่ชอบนำมาให้อ่านในวันหยุด โดยภาพที่ตนวาดเป็นภาพของรถมิชลินไฟฟ้า ไร้ควันพิษและไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงผสมไอเดียที่อยากให้ทุกคนช่วยกันปลูกต้นไม้และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมืองมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างอากาศบริสุทธิ์ได้ในระยะยาว

ตนใช้เวลาสร้างสรรค์ผลงานประมาณ 2 ชั่วโมง โดยใช้สีน้ำ ผสมกับสีชอล์ก เพื่อให้มีความแตกต่างของพื้นหลังกับภาพวัตถุ และเน้นใช้สีสันที่หลากหลาย เนื่องจากต้องการให้ภาพวาดมีความสดใส คนมองแล้วรู้สึกมีความสุข โดยการประกวดในครั้งนี้ นับว่าเป็นครั้งแรกในชีวิต ซึ่งตนรู้สึกดีใจที่การฝึกฝนทักษะศิลปะหลังเลิกเรียนทำให้ตนได้รับรางวัลดังกล่าว และเป็นกำลังใจให้ตนก้าวตามความฝันในเส้นทางการเป็นครูสอนศิลปะในอนาคต

น้องมิ้ว - ด.ญ. ชลธิชา ปิดตาทะสา นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านไทยสามัคคี จ.สระแก้ว ผู้ชนะเลิศการประกวด ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 กล่าวว่า ที่มาของผลงาน “หุ่นยนต์ถือเมือง” มาจากไอเดียที่ตนอยากสะท้อนให้เห็นว่า เราทุกคนสามารถร่วมกันพัฒนาเมืองให้ดียิ่งขึ้น ผ่านการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยใช้เทคนิคใช้สีชอล์กในแบบที่ตนถนัด ซึ่งเป็นสีที่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าสีไม้ หรือสีน้ำ โดยเริ่มต้นภาพด้วยการลงสีพื้นหลังสีเหลืองและสีน้ำตาล ซึ่งให้ความรู้สึกถึงความเก่าแก่ ก่อนจะลงสีโทนเย็นในส่วนตัวเมือง เพื่อสร้างความแตกต่างระหว่างเมืองที่พัฒนาแล้วกับตัวพื้นหลัง

การประกวดปีนี้นับเป็นปีที่ 3 ซึ่งตนทราบข่าวจากคุณครูชมรมศิลปะ และตัดสินใจเข้าร่วมทันที เนื่องจากเป็นงานอดิเรกที่ชื่นชอบและทำได้ดี โดยใช้เวลาหลังเลิกเรียนกับเพื่อนๆ ในชมรมศิลปะ ในการพัฒนาทักษะการวาดภาพระบายสี และการสื่อสารแนวคิดภาพตามโจทย์ที่ได้รับจากคุณครูที่ปรึกษามาตั้งแต่ตนยังอยู่ชั้นป. 1 รวมเวลาแล้วกว่า 4 ปี นอกจากนี้ ตนเป็นคนพูดไม่เก่ง การได้เข้าร่วมกิจกรรมทำให้ได้รู้จักพูดคุยกับเพื่อนๆ ที่มีความสนใจในด้านศิลปะ และสร้างมิตรภาพกับเพื่อนๆ เพิ่มมากขึ้น

น้องโอปอล์ - ด.ญ. ยุพาภัทร นาราศรี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนภูเรือวิทยา จ.เลย ผู้ชนะเลิศการประกวด ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 กล่าวว่า ตนสร้างสรรค์ผลงานที่มีชื่อว่า “โซลาร์เซลล์” โดยผุดไอเดียมาจากที่ตนเห็นว่าตึกของโรงเรียนที่ยังใช้หลังคาทั่วไป แต่ตนอยากให้หันมาใช้โซลาร์เซลล์ เพื่อช่วยประหยัดพลังงาน ลดการใช้ถ่านหิน และรักษาสิ่งแวดล้อม และสามารถประยุกต์ไปใช้ได้กับระบบเมืองใหญ่ด้วย โดยตัวภาพใช้เทคนิคสีน้ำ ผสมกับสีสเปรย์ ซึ่งตัวเมืองที่อยู่ตรงกลางใช้สีโทนร้อน เพื่อสื่อสารถึงเรื่องความร้อน มลพิษทางอากาศ และภาวะเรือนกระจก ซึ่งตัดกันกับแผงโซลาร์เซลล์ที่อยู่ทั่วขอบภาพ ที่ใช้สีสเปรย์โทนเย็น โดยตนเน้นการสร้างจุดเด่นและความแตกต่างจากผลงานเพื่อนๆ โดยพ่นสีโซลาร์เซลล์บนกระดาษแข็ง แยกส่วนกับตัวชิ้นงานหลัก ก่อนจะนำมาแปะทับกับภาพเมืองที่วาดขึ้น เพื่อให้เกิดเป็นภาพนูนต่ำ สร้างมิติให้กับชิ้นงานมากขึ้น

ตนใช้เวลาสร้างสรรค์ผลงานถึง 3 ชั่วโมง โดยนำเทคนิคการแยกส่วนภาพแล้วนำมาประกอบกันมาใช้เป็นครั้งแรก ซึ่งนับว่าต้องแข่งขันกับเวลา แต่ก็รู้สึกสนุกและท้าทายความสามารถเป็นอย่างมาก ซึ่งตนได้เข้าร่วมโครงการประกวดวาดภาพกับมิชลิน ตั้งแต่ป. 2 แต่ก็เพิ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ หลังจากผ่านมาถึง 6 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ตนได้ฝึกทักษะด้านศิลปะ ทำให้ตนมีสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น รวมถึงยังช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และทำให้เป็นคนกล้าคิด กล้าแสดงออกอีกด้วย

  • date : 12-04-2020