กลุ่มสามารถคว้ามาตรฐานความปลอดภัยด้านไอทีต่อเนื่อง 13 ปี

กลุ่มสามารถ อวดงบฯไตรมาส 2 พลิกกำไร 56 ลบ. รับรายได้ทะลัก จ่อนำบ.ลูกเข้าตลาดต้นปีหน้า ชูความสำเร็จด้วยการได้รับมาตรฐานความปลอดภัยด้านไอทีต่อเนื่อง 13 ปี(ISMS : Information Security Management) ISO/IEC 27001: 2013 ตอกย้ำจุดยืนการทำธุรกิจ  ด้วยการคำนึงถึงมาตรฐานและความปลอดภัยของข้อมูลเป็นสำคัญ เพื่อสร้างความมั่นใจ และประโยชน์สูงสุดให้กับลูกค้าและผู้เกี่ยวข้อง

กลุ่มบริษัทสามารถ ประกาศไตรมาส 2 รายได้รวม 4,420 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 56 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 61 โดยธุรกิจไอซีทีมีรายได้รวม 3,169 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึงร้อยละ 51 ในขณะที่กลุ่มสามารถดิจิตอล ก็มีผลขาดทุนลดลงและมีรายได้รวม 268 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19 เปอร์เซนต์ ส่วน วันทูวันคอนแทคส์ ซึ่งไปได้สวยหลังประกาศยืน 1 ในธุรกิจคอนแทคส์เซ็นเตอร์ ด้วยรางวัลการันตีความสามารถระดับเอเชีย 7 ปีซ้อน ก็มีรายได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น บริษัท สามารถ ทรานส์โซลูชั่น ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ. สามารถคอร์ปอเรชั่นที่เน้นลงทุนในธุรกิจการจราจรทางอากาศ ก็จะทำการยื่นไฟล์ลิ่ง แก่ กลต. ในไตรมาส 3 นี้ ปิดท้ายด้วยการประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลงวด 6 เดือนแรกของปี 62 ประกอบด้วย บมจ. สามารถเทลคอม หุ้นละ 0.20 บาท และ บมจ. วันทูวัน คอนแทคส์ หุ้นละ 0.03 บาท

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สรุปผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 62 ว่า บริษัทฯ มีรายได้รวม 4,420 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิ 56 ล้านบาท โดยสายธุรกิจ ICT Solution มีรายได้ไตรมาส 2 ถึง 3,169 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51 เปอร์เซนต์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 80 ล้านบาท โดยบริษัทได้ลงนามสัญญาโครงการใหม่รวมมูลค่า 5,793 ล้านบาท ประกอบด้วย งานรับจ้างออกแบบ จัดหา พัฒนา ติดตั้งและดูแลบำรุงรักษาระบบคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์สำเร็จรูปสำหรับธุรกิจหลักของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โครงการของกระทรวงมหาดไทย รวมถึง บมจ.ทีโอที ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส 2/2562 บริษัทมีมูลค่างานคงค้างรวม 9,274 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

ในขณะที่สายธุรกิจดิจิตอล ซึ่งอยู่ระหว่างการติดตั้งโครงข่ายวิทยุคมนาคมระบบดิจิตอลและเสาโทรคมนาคมในกรมอุทยานแห่งชาติ ก็เริ่มทยอยรับรู้รายได้แล้วและจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาสสาม

ส่วนธุรกิจ Contact Center โดย บมจ.วันทูวันคอนแทคส์ มีรายได้ 188 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 5 เปอร์เซนต์ ปัจจุบันครองส่วนแบ่งตลาดราว 27 เปอร์เซนต์ และมีมูลค่างานในมือทั้งสิ้น 828 ล้านบาท มีองค์กรผู้ใช้บริการในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ กลุ่มประกัน กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มสายการบิน รวมแล้วกว่า 80 รายในปัจจุบัน

ปิดท้ายที่สายธุรกิจ U-TRANS ซึ่งเกี่ยวข้องกับธุรกิจด้านพลังงานและสาธารณูปโภค มีรายได้รวม 761 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจบริหารและควบคุมการจราจรทางอากาศที่ประเทศกัมพูชาโดย บริษัท แคมโบเดีย แอร์ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS) นอกจากนี้ บริษัทย่อยคือ เทด้า ก็มีผลการดำเนินธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้เซ็นสัญญาโครงการจัดหาและจ้างก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูง 115 kV สิงห์บุรี กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มูลค่า 358 ล้านบาท

นายวัฒน์ชัย กล่าวถึงแนวทางในการรุกธุรกิจของกลุ่มสามารถในช่วงครึ่งปีหลังว่า “ เนื่องด้วยรัฐบาลมีนโยบายผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรมและเร่งด่วน ผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ย่อมส่งผลดีต่อภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการสื่อสาร คมนาคม ซึ่งกลุ่มสามารถเทลคอมก็เริ่มต้นครึ่งปีหลังได้สวย สามารถชนะประมูลงานสำคัญ อาทิ โครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมทหารกับกองบัญชาการกองทัพไทย มูลค่า 598 ล้านบาท, โครงการจัดหาพร้อมติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) บริเวณสวนสาธารณะ กับกรุงเทพมหานคร มูลค่า 168 ล้านบาท และยังมีงานรอประมูลในครึ่งปีหลังอีกกว่า 9 พันล้านบาท คาดว่าสิ้นปี 62 จะมีงานในมือมากกว่า 12,000 ล้านบาท ในขณะที่ สายธุรกิจดิจิตอลก็อยู่ในช่วงพลิกฟื้นและทยอยรับรู้รายได้ใหม่ๆ ซึ่งจะเป็นรายได้ประจำต่อไป

ส่วนสายธุรกิจ ยูทรานส์ ก็มีรายได้ประจำที่แข็งแกร่ง จากธุรกิจควบคุมการจราจรทางอากาศในปัจจุบัน โดยล่าสุด คณะกรรมการบริษัทได้ลงมติให้ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น นำบริษัทย่อย คือ บริษัท สามารถ ทรานส์โซลูชั่น จำกัด (STR) ที่เน้นลงทุนในบริษัทที่ประกอบธุรกิจการจราจรทางอากาศ หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการจราจรทางอากาศ เข้าระดมทุนโดยการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) และจะนำหุ้นสามัญทั้งหมดของ STR เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยจะนำเงินที่ได้รับจากการระดมทุนไปใช้ในการชำระคืนเงินกู้ และเป็นเงินทุนหมุนเวียนภายในกิจการ ปัจจุบัน STR ได้ถือหุ้น 100 เปอร์เซนต์ ในบริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS) และเมื่อ บริษัท สามารถ ทรานส์โซลูชั่น จำกัด แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และเปลี่ยนเป็นชื่อ “บริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน)”

นายวัฒน์ชัย กล่าวเพิ่มว่า “การนำบริษัท สามารถ ทรานส์โซลูชั่น จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นของกลุ่มสามารถที่จะขยายธุรกิจ รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยี ด้านการจราจรทางอากาศให้ทันสมัยยิ่งขึ้น เพื่อต่อยอดและสร้างโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งไม่เพียงเท่านั้นเรายังมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีและโซลูชั่นรอบด้าน โดยผลักดันให้เกิดความคิดสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับกลุ่มสินค้าและบริการ เพื่อสร้างความคุ้มค่าสูงสุดให้กับลูกค้าของเรา”

ทั้งนี้ STR ประกอบธุรกิจลงทุนในบริษัทอื่น (Holding company) ซึงเน้นการลงทุนในบริษัทที่ประกอบธุรกิจการจราจรทางอากาศ หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการจราจรทางอากาศ โดยปัจจุบันได้มีการถือสัดส่วน 100% ในบริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS) สัญชาติกัมพูชาที่ประกอบธุรกิจดำเนินการจัดตั้งระบบและให้บริการควบคุมการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชาแต่เพียงผู้เดียวตามสัญญาสัมปทานที่ได้รับจากรัฐบาลกัมพูชาตั้งแต่ปี 2544 ถึงปี 2583

สำหรับผลประกอบการของ STR ในช่วงปี 59-61 บริษัทมีรายได้เพิ่มจาก 1,770.70 ล้านบาทในปี 59 เป็น 1,854.58 ล้านบาทในปี 60 และ 1,930.01 ล้านบาทในปี 61 ส่วนกำไรสุทธิเพิ่มจาก 279.39 ล้านบาทในปี 59 เป็น 317.92 ล้านบาทในปี 60 และ 252.84 ล้านบาทในปี 61

ขณะที่งวด 6 เดือนแรกของปี 62 บริษัทมีรายได้ 1,008.34 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปี 61 ที่มีรายได้ 917.88 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 246.88 ล้านบาท เพิ่มจาก 111.41 ล้านบาท

อนึ่ง STR เริ่มก่อตั้งในปี 60 จึงทำให้ไม่มีผลการดำเนินงานในปี 59 อย่างไรก็ตาม ฝ่ายจัดการของบริษัทได้จัดทำผลการดำเนินงานของ STR ในปี 59 ขึ้น โดยอ้างอิงจากผลการดำเนินงานของ CATS เพือให้เปรียบเทียบผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปีนับจากปี 61 ได้

ทั้งนี้ STR มีความประสงค์จะระดมทุนโดยการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) และจะนำหุ้นสามัญทั้งหมดของ STR เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อจะนำเงินทีได้รับจากการระดมทุนไปใช้ในการชำระคืนเงินกู้กับสถาบันการเงิน และเป็นเงินทุนหมุนเวียนภายในกิจการ

STR จะแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดและจะทำให้ชื่อเปลี่ยนจากเดิมชือ "บริษัท สามารถ ทรานส์โซลูชั่น จำกัด" เป็นชือ "บริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน)" และภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนและหุ้นสามัญเดิมของ STR ต่อประชาชนทัวไปแล้ว SAMART จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นทางอ้อมใน STR โดยมีสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 65% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ STR ภายหลังการเพิ่มทุน

กลุ่มสามารถ กลับมาทำกำไร หลังประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 มีรายได้รวม 4,420 ล้านบาท กำไรสุทธิ 56 ล้านบาท โดยเติบโตในธุรกิจไอซีที และลดการขาดทุนจากกลุ่มสามารถดิจิตอล ส่วนไตรมาส 3 รอยื่นไฟล์ลิ่ง สามารถ ทรานส์โซลูชั่น แก่กลต.

อนึ่ง "กลุ่มบริษัทสามารถ"  ก่อตั้งในปี พ.ศ.2498 โดยเป็นบริษัทของคนไทยที่เติบโตอย่างมั่นคงจนถึงปัจจุบัน มีบริษัทในเครือรวมทั้งสิ้นกว่า 40 บริษัท มีพนักงานรวมกันทั้งสิ้นกว่า 5,000 คน และมี 4 บริษัท ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกอบด้วย 1. บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท สามารถ ดิจิตอล จำกัด (มหาชน) และ 4. บริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (มหาชน)

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากลุ่มบริษัทสามารถมุ่งมั่นัฒนาระบบการทำงานและให้บริการในมาตรฐานระดับสากล โดยที่ผ่านมาได้รับการรับรองมาตรฐานฯ และรางวัลต่างๆ การันตรีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับมอบประกาศนียบัตรมาตรฐานด้านการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (ISMS : Information Security Management) ISO/IEC 27001: 2013 ซึ่งที่เป็นมาตรฐานในระดับสากล ติดต่อกันเป็นปีที่ 13 จาก บริษัท บีเอสไอ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งการรับรองดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ากลุ่มบริษัทสามารถเป็นเอกชนที่ทำธุรกิจด้านเทคโนโลยี โดยคำนึงถึงมาตรฐานและความปลอดภัยของข้อมูลเป็นสำคัญ เพื่อที่จะสร้างความมั่นใจ และประโยชน์สูงสุดให้กับลูกค้า และผู้เกี่ยวข้อง

  • date : 07-04-2020