50 ปี กฟผ. คว้ารางวัลต้นแบบด้านความปลอดภัยฯ
50 ปี กฟผ. พร้อมก้าวสู่องค์กรนวัตกรรมที่ไม่หยุดยั้ง เพื่อสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าไทยและภูมิภาคอย่างยั่งยืน สานนโยบาย 4.0 ย้ำความสำเร็จด้านความปลอดภัยฯ ด้วย 18 หน่วยงาน รับรางวัลสถานประกอบการต้นแบบดีเด่นด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานปี 2562 จากกระทรวงแรงงาน
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผย 50 ปีที่ผ่านมา กฟผ. ดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้าอย่างเพียงพอและทั่วถึงจากกำลังผลิตติดตั้ง 907 เมกะวัตต์ ในปี 2512 จวบจนถึงปัจจุบัน กฟผ. ครบรอบวันสถาปนา 50 ปี ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 นี้ ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งประเทศ 54,816 เมกะวัตต์ โดยเป็นโรงไฟฟ้าของ กฟผ. 14,566 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 27 ของกำลังผลิตรวมทั้งประเทศ ในส่วนด้านระบบส่งไฟฟ้า กฟผ. ได้พัฒนาระบบส่งเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประเทศในกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงรองรับการพัฒนาพลังงานทดแทน ปัจจุบันสายส่งไฟฟ้าของ กฟผ. มีความยาวทั้งสิ้น 35,088.156 วงจร-กิโลเมตร สถานีไฟฟ้าแรงสูงรวม 228 สถานี (ข้อมูล ณ วันที่ 1 เมษายน2562)
“กฟผ. ขอขอบคุณคนไทยทุกคนที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าไทย จนทำให้ กฟผ. เดินทางมาถึง 50 ปีในวันนี้ กฟผ. จะมุ่งมั่นทำหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าอย่างเต็มความสามารถและจะพัฒนางานและนวัตกรรมพลังงานอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อสร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ และสร้างความสุขและคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างยั่งยืน”
นายวิบูลย์ กล่าวต่อว่า สำหรับทิศทางการดำเนินภารกิจขององค์กรในอนาคต กฟผ. พร้อมปรับตัวและพร้อมรับมือเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าให้รองรับกับสถานการณ์พลังงานและพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยจะพัฒนา Grid Modernization เพื่อดูแลระบบไฟฟ้าให้สามารถรองรับพลังงานหมุนเวียนที่จะมีเพิ่มขึ้น เพื่อให้พลังงานไฟฟ้า ในอนาคตเป็นพลังงานสีเขียวโดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เช่น การปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น (Flexible Power Plant) เพื่อให้สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลักได้อย่างทันท่วงทีเมื่อพลังงานหมุนเวียนหายไป มีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ (Pumped Storage) และแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (BESS) นำร่อง 2 แห่ง คือ สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ และ สถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี มีระบบการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า มีระบบส่งไฟฟ้าที่สื่อสารข้อมูลกับระบบไฟฟ้าอัจฉริยะได้ และมีระบบการพยากรณ์และควบคุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (Renewable Forecast Center) เป็นต้น
นอกจากนี้ กฟผ. จะพัฒนาโรงไฟฟ้าของ กฟผ. สู่การเป็นโรงไฟฟ้าดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพสูง แม่นยำ ควบคุมและสั่งการผ่านระบบดิจิทัล มีระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่ข้อมูลทั้งหมดถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบเพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลและนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ระบบ AI วิเคราะห์และประมวลผลการทำงาน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการควบคุมโรงไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้โรงไฟฟ้ามีประสิทธิภาพและมีความพร้อมจ่ายสูง โดยเริ่มที่โรงไฟฟ้าพระนครเหนือและโรงไฟฟ้าจะนะ รวมทั้ง กฟผ. ยังได้ร่วมมือกับ กฟภ. และ กฟน. จัดทำ National Energy Trading Platform (NETP) เพื่อรวบรวมข้อมูลการซื้อขายไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่ง กฟผ. จะเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการข้อมูลของประเทศ
ด้านระบบส่งไฟฟ้า กฟผ. มุ่งพัฒนาโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคงแข็งแรง สามารถเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ขยายขอบเขตการแลกเปลี่ยนซื้อขายพลังงานในระดับภูมิภาค (Grid Connectivity) พร้อมผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Power Grid) โดยในระยะแรกมีการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศแบบพหุภาคีและมัลติ (Multilateral Power Trade) เช่น ลาว ไทย มาเลเซีย จะมีการเพิ่มปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าระหว่าง 3 ประเทศ สปป.ลาว ไทย และมาเลเซีย (LTM) จาก 100 เมกะวัตต์ เป็น 300 เมกะวัตต์ และจะขยายผลไป 4 ประเทศในอนาคต (LTMS) พร้อมทั้งมีการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก เชื่อมสายส่งระหว่าง สปป.ลาว ไทย เมียนมาร์ เป็นต้น
นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีการพัฒนานวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าสู่รูปแบบใหม่ เป็นแบบ Hybrid เช่น ระบบ Wind Hydrogen Hybrid ซึ่งนำมาใช้ในโครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้าลำตะคอง ระยะที่ 2 บริเวณอ่างพักน้ำตอนบนโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา, โครงการโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อน (Hydro -Floating Solar Hybrid) ซึ่งจะนำร่องติดตั้งที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ซึ่งนับเป็นโครงการไฮบริดแห่งแรกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นต้น ซึ่ง กฟผ. จะเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมเพิ่มเติมอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับพลังงานหมุนเวียน และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ
ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวต่อว่า นอกจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีแล้ว กฟผ. ยังมีการพัฒนางานด้านชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นจากที่ดำเนินการมาตลอดระยะเวลา 50 ปี ซึ่ง กฟผ. ได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ มากมายเพื่อดูแลสังคมชุมชนให้ “อยู่ดีมีสุข” อาทิ โครงการปลูกป่า กฟผ., โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน, โครงการส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ, การคืนความรู้สู่สังคม ด้วย โครงการห้องเรียนสีเขียว และศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทั่วประเทศ โดย กฟผ. มุ่งมั่นพัฒนาโครงการต่าง ๆ เพื่อให้สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนให้ดีขึ้นตามแนวทางศาสตร์พระราชาและหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) อีกทั้ง กฟผ. ยังมีโครงการระยะยาวเพื่อชุมชน อาทิ เหมืองแม่เมาะจะหมดอายุในอีก 25 – 30 ปีข้างหน้า กฟผ. จะมีโครงการพัฒนาแม่เมาะให้เป็นเมืองน่าอยู่ (Mae Moh Smart City) ที่จะมีการบริหารจัดการด้านพลังงานและด้านต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนแม่เมาะ จ.ลำปาง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมและยั่งยืน เป็นต้น
“กฟผ. เชื่อมั่นว่า ทิศทางการดำเนินภารกิจและการปรับตัวขององค์กรและพนักงาน ด้วยการนำใช้ดิจิทัลมาปรับใช้ในกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย และคล่องตัวเพิ่มขึ้น มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านพลังงานไฟฟ้าให้สามารถรองรับกับทุกสถานการณ์พลังงานที่เปลี่ยนไปและการแข่งขันทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น จะสามารถสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพให้กับระบบไฟฟ้าได้ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและสร้างความเติบโตให้กับเศรษฐกิจของประเทศ และ กฟผ. จะสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนไทยทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข ดังปณิธานของ กฟผ. ที่ตั้งมั่นมาตลอดระยะเวลา 50 ปีและจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป ว่า กฟผ. ผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทย” นายวิบูลย์กล่าว
นายวิบูลย์ กล่าวเพิ่มอีกว่า ตลอดระยะเวลา 50 ปี กฟผ. มุ่งมั่นดำเนินงานด้วยความปลอดภัย โดยมีรางวัลต่างๆ ที่ได้รับอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในปี 2562 ได้รับรางวัลถานประกอบกิจการต้นแบบดีเด่นด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน จากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ประจำปี 2562 โดย กฟผ. ได้รับรางวัลสถานประกอบกิจการต้นแบบดีเด่นฯ ทั้งสิ้น 18 หน่วยงาน ได้แก่ 1. เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี 2. ฝ่ายปฏิบัติการภาคใต้ สำนักงานลำภูรา จ.ตรัง 3. ฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือ จ.พิษณุโลก 4. โรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา 5. เขื่อนท่าทุ่งนา จ.กาญจนบุรี 6. โรงไฟฟ้าพระนครใต้ จ.สมุทรปราการ 7. เขื่อนศรีนคริทร์ จ.กาญจนบุรี 8. ฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือ สำนักงานนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ 9. ฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือ สำนักงานฐานปฏิบัติงานจังหวัดลำปาง จ.ลำปาง 10. ฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือ สำนักงานเชียงใหม่ 2 จ.เชียงใหม่ 11. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานนครราชสีมา จ.นครราชสีมา 12. เขื่อนภูมิพล จ.ตาก 13. โรงไฟฟ้าลานกระบือ จ.กำแพงเพชร 14. เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ 15. โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา 16. เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ 17. โรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา และ18. เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี
“ทางฝ่ายพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยขอแสดงความยินดีและขอบคุณผู้บริหารและผู้ปฎิบัติงานที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานที่ได้รับรางวัลที่เห็นถึงความสำคัญด้านความปลอดภัย และได้สร้างชื่อเสียงให้กับ กฟผ.”
ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ กล่าวถึงนโยบายลังงาน 4.0 ว่า นโยบาย Energy 4.0 เป็นนโยบายที่ กระทรวงพลังงานมุ่งให้การพัฒนาพลังงานเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่มุ่งสร้างรายได้ของประชาชนให้พ้นกรอบประเทศรายได้ปานกลาง และเป็นสังคมสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีหัวใจหลักคือการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีมาวางแผนพลังงานอย่างคลอบคลุมทุกมิติ
นอกจากการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาโรงไฟฟ้าหลัก ให้มีประสิทธิภาพสูง ต้นทุนต่ำ และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดแล้ว ปัจจุบัน กฟผ. ยังมุ่งสู่การเป็นผู้นำทางด้านพลังงานหมุนเวียนของประเทศ โดยได้เสนอกระทรวงพลังงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 2,000 เมกะวัตต์ (จากเดิมที่มีแผนเพียง 500 เมกะวัตต์) ที่ผสมผสานการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย และเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) หรือที่เรียกว่า “ระบบอัฉริยะ” (สมาร์ท) มาช่วยสร้างประสิทธิภาพ และเสถียรภาพให้แก่ระบบไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น
นโยบายพลังงาน 4.0 แบบ 4 สมาร์ท
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของพลังงานหมุนเวียนที่มีความไม่แน่นอน การนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในปริมาณมากในอนาคต จะต้องพัฒนาทุกมิติ ตั้งแต่ด้านการผลิต (Supply Side) ด้านการสั่งการ (Operation Side) ด้านความต้องการ (Demand Side) และด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ (ศูนย์การเรียนรู้) ซึ่ง กฟผ. จะดำเนินงานผ่านการพัฒนา 4 ด้าน หรือที่เรียกว่า ‘4 Smart’ ได้แก่ Smart Energy, Smart System, Smart City และ Smart Learning
การพัฒนาพลังงานแบบ Smart ของ กฟผ. นั้น จึงไม่หยุดอยู่ที่การผลิต และการจ่ายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้ มีความมั่นคง และความเสถียรเท่านั้น แต่จะยังจะถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์สู่สังคมไทย ให้ก้าวไปข้างหน้า พร้อมๆกับสังคมโลกอย่างสง่างาม
- date : 07-04-2020