กลุ่มปตท.อัดเม็ดเงินลงทุนปีนี้ 4.5 แสนล้าน พร้อมคว้า 22 รางวัลต้นแบบความปลอดภัย

กลุ่ม ปตท.ทุ่มเม็ดเงินลงทุนปีนี้ 4.5 แสนล้านบาท ส่วนปตท.เอง 1.3 แสนล้านบาท โดย ปตท.เตรียมศึกษาแผนลงทุนระบบลอจิสติกส์รับโอกาสรับขยายลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เส้นทางรถไฟ ทางอากาศ ทางน้ำ เสร็จกลางปีนี้ เร่งปั่นนโยบาย “CHANGE for Future of Thailand 4.0” ล่าสุดรับ 22 รางวัลต้นแบบด้านความปลอดภัย

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่าในปี 2562 ปตท.จะใช้เงินลงทุนกว่า 1.3 แสนล้านบาทเพื่อขับเคลื่อนโครงการสำคัญ คือ การลงทุนขยายคลังรับก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) แห่งที่ 1 เป็น 11.5 ล้านตันตันต่อปี และแห่งที่ 2 ขนาด 7.5 ล้านตันต่อปี เพื่อรองรับกำลังผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ลดลง และเดินหน้าโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก เส้นที่ 5 ที่จะเชื่อมการส่งก๊าซจากภาคตะวันตกและภาคตะวันออก รองรับความเสี่ยงหากพม่าหยุดการจ่ายก๊าซ รวมถึงอยู่ระหว่างศึกษาแผนลงทุนระบบลอจิสติกส์และคลังน้ำมันบนภาคพื้นดินและอากาศยานเพื่อรองรับการขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ เช่น รถไฟรางคู่ การขนส่งทางเรือ และทางอากาศ คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จกลางปีนี้ ก่อนกำหนดกลยุทธ์การลงทุนต่อไป

เบื้องต้นบริษัทในกลุ่ม ปตท.ได้กำหนดงบลงทุนโครงการต่างๆ ในปี 2562 รวม 4.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ใช้เงินลงทุน 6 หมื่นล้านบาท, บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล 5 หมื่นล้านบาท, บมจ.ไทยออยล์ 4 หมื่นล้านบาท, บมจ.ไออาร์พีซี 3 หมื่นล้านบาท, บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) 1.4 แสนล้านบาท และ ปตท. 1.3 แสนล้านบาท

“ในช่วง 5 ปีนี้กลุ่ม ปตท.ใส่เม็ดเงินลงทุนเข้าไปในโครงการต่างๆ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ราว 3-4 แสนล้านบาทต่อปี เพื่อสนับสนุนนโยบายของภาครัฐและขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศ”

ล่าสุดในโอกาสได้พาคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงานการจัดการเมืองอัจฉริยะ (smart city) และโครงสร้างพื้นฐาน ณ สาธารณรัฐออสเตรีย และสาธารณรัฐฝรั่งเศส ต้นแบบ smart city เพื่อนำมาพัฒนาและต่อยอดธุรกิจองค์กร

นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม กล่าวเสริมว่า ปตท.อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อจัดตั้งหน่วยงานใหม่ ชื่อว่า PTT accelerate เพื่อพัฒนางานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ โดยใช้ทีมคนรุ่นใหม่ของ ปตท.ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการวิจัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เบื้องต้นมีจำนวน 10 แห่ง มหาวิทยาลัยชั้นนำซึ่งจะเป็นการทำงานคู่ขนานไปกับทีมเดิม ExpresSo ที่จะคิดค้นนวัตกรรมที่จะมาเป็นธุรกิจใหม่ ๆ ของ ปตท.ด้วย

ขณะเดียวกัน ยังมีแผนเปิดสถาบันนวัตกรรม ปตท.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งจะเป็นศูนย์บ่มเพาะธุรกิจจากคนรุ่นใหม่ (startup) เพราะมีจุดเด่นที่มีนักวิจัยคุณภาพจำนวนมาก และเพิ่มสาขาปิโตรเลียม-ปิโตรเคมี บวกกับนวัตกรรมใหม่ ซึ่งขณะนี้ ปตท.ได้เริ่มลงทุน 2 แห่งแรก บริษัท บาเนีย ประเทศไทย โดยเป็นสตาร์ตอัพธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นำ big data มาใช้ในอาคารและสตาร์ตอัพโดรนเพื่อพ่นแมลงทางการเกษตร ซึ่งได้เริ่มปรับเพื่อทรานส์ฟอร์มธุรกิจของ ปตท.ให้เป็นไปตามเทรนด์ของโลกอีกทั้ง ปตท.ยังได้ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมจัดทำแพลตฟอร์มอินดัสทรี 4.0 ของประเทศไทย

โดยเน้นการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยในการผลิตของอุตสาหกรรมไทย โดย ปตท.ได้นำบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด บริษัทลูกของบริษัท ปตท.ผลิตและสำรวจปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ร่วมทำงาน ซึ่งแพลตฟอร์มนี้จะช่วยให้ผู้ใช้หุ่นยนต์โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มีช่องทางเข้าถึงผู้ผลิตหุ่นยนต์ และผู้ผลิตระบบอัตโนมัติ (เอสไอ) มีสินเชื่อรองรับ ช่วยกระตุ้นตลาดทั้งผู้ใช้และผู้ผลิตทั้งระบบอีกด้วย

“เราไม่ได้บอกว่าจะเลิกทำออยล์และก๊าซ เพราะเราโตมาจากตรงนั้นเพื่อความมั่นคงพลังงานของประเทศ เพียงแต่จะฉีกไปทำอะไรที่มากกว่า การนำผลงานวิจัยจากคนรุ่นใหม่ก็จะพัฒนาเพื่อต่อยอดเป็นธุรกิจสตาร์ตอัพด้วย ที่ผ่านมาผลงานการวิจัยอาจารย์มหาวิทยาลัยมักจะหยุดทำระดับหนึ่ง จำเป็นต้องมีบริษัทที่ต้องกล้าที่จะลงทุนต่อยอดเชิงพาณิชย์ที่ผ่านมา จึงเป็นจุดบอดของไทย เราต้องต่อยอดผลงานวิจัยเข้าสู่ธุรกิจ new S-curve ใหม่”

ส่วนการลงทุน smart city บางซื่อ เมืองอัจริยะนั้น ยอมรับว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายกลุ่ม ปตท. ซึ่งจะร่วมสนับสนุนผลักดันร่วมกับรัฐบาล และต่อยอดไปยังวังจันทร์วัลเลย์ โดยจะใช้พื้นที่นี้เป็นต้นแบบ สิ่งที่จะได้รับนอกจากคุณภาพชีวิตคนบางซื่อและกรุงเทพฯดียิ่งขึ้นแล้ว

ทั้งนี้ เบื้องต้นจะใช้โมเดลของ Aspern smart city ประเทศออสเตรีย โดยหัวใจหลัก คือ ต้องการจะลดคาร์บอนลงให้มากที่สุด และเชื่อมโยงคนรอบเมืองทั้งการใช้รถไฟฟ้าและโครงสร้างระบบสาธารณูปโภค ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนเร็ว ๆ นี้

สำหรับความคืบหน้าโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง ล่าสุดสถาบันวิทยสิริเมธีอยู่ระหว่างเร่งวิจัยผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์กักเก็บไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยตั้งโรงงานต้นแบบจะผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมซัลเฟอร์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการกักเก็บไฟฟ้าให้ได้มากขึ้น และถือเป็นการสอดรับแผนการลงทุนในปี 2562 ที่มีการปรับเพิ่มขึ้นจากเดิม 70,501 ล้านบาท เป็น 103,697 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 33,196 ล้านบาท เพื่อจะมุ่งเน้นการลงทุนขยายธุรกิจไฟฟ้าและพลังงานทดแทน และลงทุนในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ด้านนางหงษ์ศรี เจริญวราวุฒิ ผู้อำนวยการโครงสร้างการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์เพื่อเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เปิดเผยว่า ภายในไตรมาส 3 ของปี 2562 นี้ ปตท.จะดำเนินการเปิดเผยร่างแผนจัดซื้อจัดจ้าง (ทีโออาร์) เพื่อให้เช่าพื้นที่ในส่วนของวังจันทร์วัลเลย์ หรืออีอีซีไอ เพื่อดำเนินการก่อสร้าง 3 ส่วน ได้แก่ 1.การพัฒนาคอมมิวนิตี้มอลล์ 2.การพัฒนาโรงแรมและอพาร์ตเมนต์หรือส่วนพักอาศัยในพื้นที่ และ 3.การพัฒนาก่อสร้างโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนนานาชาติในพื้นที่รวม 100 ไร่ และคาดว่าจะเปิดให้เช่าในระยะเวลา 30 ปี

“ตอนนี้มีเอกชนที่เตรียมเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีไอ เราจึงเตรียมเปิดทีโออาร์เพื่อให้เอกชนเข้ามาลงทุน โดยคาดว่าในปี 2564-2565 คาดว่าจะแล้วเสร็จ และแน่นอนว่าช่วงปีดังกล่าวเราจะเห็นการลงทุนของหน่วยงานต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ปตท.สผ. และระบบสาธารณูปโภค รวมทั้งการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ และอาคารของ สวทช. ซึ่งพื้นที่อีอีซีไอเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศพัฒนาไปยังอุตสาหกรรม 4.0 เพราะเป็นจุดเริ่มต้นในหลาย ๆ เรื่อง ถ้าไม่ทำส่วนนี้การจะไปถึง 4.0 นั้นคงเป็นไปได้ยาก”

อีกด้านหนึ่ง กรณีที่แผนการลงทุนใหม่ของ ปตท.ได้มีการปรับลดการลงทุนในส่วนปิโตรเลียมขั้นปลาย และการลงทุนด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องนั้น นางจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แผนการลงทุนดังกล่าวเป็นการแยกกันคนละส่วน ซึ่งขณะนี้ธุรกิจอะไรที่เกี่ยวข้องกับ flagship ใด flagship สามารถลงทุนได้

ก่อนหน้านี้ PTTOR วางเป้าหมายปริมาณขายน้ำมันรวมปี 2562 เติบโต 3% จากปี 2561 โดยจะมีการขยายสถานีบริการน้ำมันในประเทศ 155 แห่งในปี 2562 จากปัจจุบันที่มีราว 1,700 แห่ง รวมถึงมีแผนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในสถานีบริการน้ำมันด้วย 50 แห่ง เพื่อช่วยประหยัดไฟฟ้า 10-40% และมีกลยุทธ์เน้นการขายน้ำมันที่มีคุณภาพโดยเฉพาะน้ำมันดีเซลพรีเมี่ยมมาตรฐานยูโร 5 น้ำมัน B20 จะเพิ่มจาก 16 เป็น 30 สถานี

รวมถึงการโคแบรนด์ cobrand ที่จะมาเช่าพื้นที่ภายในสถานีบริการน้ำมัน เพื่อดึงดูดลูกค้าเข้ามาใช้บริการ ส่วนความคืบหน้าการนำหุ้นบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯนั้น ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบข้อมูลและเตรียมความพร้อมเพื่อยื่นแบบรายการข้อมูลการเสนอขายหุ้น (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP กล่าวว่า ในปี 2562 ปตท.สผ.มีแผนจะใช้งบลงทุนราว 6 หมื่นล้านบาท และมีเป้าหมายสร้างการเติบโตในส่วนของปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ยปีละ 5% ตลอด 10 ปี จนถึงปี 2573 จากปี 2561 มีปริมาณการขายอยู่ที่ 3.18 แสนบาร์เรลต่อวัน โดยจะเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมจากปัจจุบัน 670 ล้านบาร์เรล หรือคิดเป็นอายุ 5 ปี จะเพิ่มเป็น 900 ล้านบาร์เรล หรือคิดเป็น 7 ปี หลังจากเซ็นสัญญาดำเนินโครงการแหล่งเอราวัณและบงกชกับภาครัฐที่ ปตท.สผ.เป็นผู้ชนะการประมูล

ขณะนี้ ปตท.สผ.จะเน้นการเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมเพื่อเพิ่มมาร์จิ้น โดยไม่ทิ้งโอกาสการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ในแหล่งปิโตรเลียมที่ดำเนินการผลิตแล้วในแถบอาเซียน ตะวันออกกลาง เช่น โอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซึ่งในปีนี้ก็มีโอกาสในการลงทุนธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจก๊าซธรรมชาติครบวงจร (Gas Value Chain) เช่น ธุรกิจโรงไฟฟ้า (Gas to Power) โดยโครงการในพม่าคาดว่าจะได้รับข่าวดีภายใน 2-3 เดือนนี้โดยจะดึง GPSC เข้าไปทำธุรกิจไฟฟ้าร่วมกันด้วย

นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP กล่าวว่า บริษัทจะใช้เงินลงทุนในช่วง 4 ปี (2562-2565) อยู่ที่ 5.1 พันล้านดอลลาร์ จะใช้สำหรับโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project : CFP) ที่เป็นการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันเป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.7 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2565

ในส่วนนี้จะเป็นการผลิตน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 ซึ่งหากภาครัฐต้องการให้ดำเนินการเสร็จเร็วขึ้นจากปกติแล้วเสร็จในปี 2567 นั้น ภาครัฐต้องประกาศแผนในปีนี้ เพื่อที่บริษัทจะเร่งการลงทุนให้เสร็จใน 3 ปี หรือในปี 2565 ส่วนยอดขายปีนี้ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมัน คาดว่าน่าจะใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC กล่าวว่า บริษัทเตรียมเงินลงทุนช่วง 3 ปี 1.4 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 4 หมื่นล้านบาท โดยปีนี้จะมีการลงทุนประมาณ 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนตามแผน 40,000 ล้านบาท ลงทุนตั้งโรงงานรีไซเคิลเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน 3,000 ล้านบาท และร่วมลงทุนประมาณ 5,000- 10,000 ล้านบาท

ขณะนี้เศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณที่ดีในการเจรจาข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเริ่มปรับตัวขึ้น ทำให้ความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจโลกถดถอยมีแนวโน้มลดลง ดังนั้นในปีนี้บริษัทคาดว่าจะมีผลการดำเนินงานดีต่อเนื่องจากปีก่อน

ขณะที่ปี 2563 จะเป็นปีที่ดีอีกปีหนึ่ง เนื่องจากรับรู้รายได้จากโครงการปรับปรุงกระบวนการผลิตโอเลฟินส์ (ORP : Olefins Reconfiguration Project) โครงการผลิตสารโพรพิลีน ออกไซด์ (Propylene Oxide Project) และโครงการผลิตสารโพลีออลส์ (Polyols Project) จะแล้วเสร็จ

นายชาญศิลป์ กล่าวถึงแนวคิดในการบริหารจัดการของกลุ่มปตท. ว่า ต่อจากนี้ไปตนจะสานต่อการดำเนินงานตามกลยุทธ์ของ ปตท. ที่ได้วางไว้จากรุ่นสู่รุ่น โดยปรับปรุงการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความท้าทายต่างๆ ทั้งปัจจุบันและอนาคต ผ่านนโยบาย “CHANGE for Future of Thailand 4.0” มีองค์ประกอบ หรือ เสาหลักทั้งหมด 6 ด้าน ดังนี้ 1. Continuity สานต่อเพื่อความต่อเนื่อง เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดยุทธศาสตร์สำหรับการดำเนินธุรกิจแบบ 3D คือ Design now, Decide now และ Do now 2. Honesty ความซื่อสัตย์ ความเที่ยงธรรม ผู้บริหารและพนักงานทุกคน ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ และดำเนินการอย่างมีจริยธรรมนำธุรกิจ คำนึงถึงประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียอย่างสมดุล 3. Alignment ขยายความร่วมมือ เพิ่มความมั่นคงและยั่งยืน ใช้ความเข้มแข็งจากภายใน ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ปตท. สร้างพลังร่วมเพื่อบูรณาการความเชี่ยวชาญ กระจายโอกาสการเติบโตออกสู่สังคมภายนอก 4. New Innovation Solution สร้างสรรค์สิ่งดีและสิ่งใหม่ หาธุรกิจที่เป็นเส้นทางสู่ความสำเร็จใหม่ (New S-Curve) ของ ปตท. โดยนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และแนว ความคิดใหม่ มาสรรค์สร้างให้เกิดการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพ 5. Good Governance กำกับดูแลดี มีประสิทธิภาพ ยึดมั่นการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล เน้นความโปร่งใส เที่ยงตรง เป็นธรรม และตรวจสอบได้ โดยปรับปรุงบทบาทในการกำกับดูแลบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมให้มีประสิทธิผลมากขึ้นและคำนึงถึงผลประโยชน์ภาพรวมของกลุ่ม ปตท. ตลอดทั้งสายโซ่ธุรกิจ เพื่อรักษาความมั่นคงและมั่งคั่งทั้งในเรื่องของธุรกิจพลังงานและปิโตรเคมีที่สำคัญกับประเทศต่อไป 6. Excellence Team Work สร้างคนรุ่นใหม่ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง มุ่งพัฒนาพนักงานทุกรุ่นให้สามารถทำงานร่วมกันเป็นทีม มีศักยภาพ ความกล้า และพร้อมรับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังต้องเป็นคนกล้าที่จะก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆ

“จากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมและความท้าทายในอนาคต ปตท. จำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่จะทำให้การดำเนินธุรกิจเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ด้วยการดำเนินงานโดยยึดหลักหลักธรรมาภิบาล มุ่งเป็นองค์กรตัวอย่างของประเทศไทย ร่วมเป็นหนึ่งในฟันเฟืองขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีที่วางไว้ และสอดรับกับกระบวนทัศน์ในการพัฒนาประเทศภายใต้ “ประเทศไทย 4.0” ซึ่งจะนำพาเศรษฐกิจให้ก้าวหน้า เป็นประโยชน์ต่อคนไทยทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับชุมชน สังคม และประเทศ โดย ปตท. มีเป้าหมายคือ ปตท. ต้องเป็นองค์กรแห่งความภาคภูมิใจ เน้นความโปร่งใส สู่ความยั่งยืน” นายชาญศิลป์ กล่าว

ทั้งนี้ ปตท. ยังคงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความยั่งยืน 3 ด้าน (3P) อย่างสมดุล คือ การทำธุรกิจควบคู่กับการดูแลชุมชนและสังคม (People) การอนุรักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Planet) และเป็นฐานความมั่นคงให้แก่ภาคเศรษฐกิจและสังคมเติบโตอย่างแข็งแรงและยั่งยืน (Prosperity)

นายชาญศิลป์ กล่าวถึงแนวทางการจัดการด้านความปลอดภัยว่า การรักษาความมั่นคงปลอดภัย ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงานเป็นสิ่งที่ ปตท. ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกเสมอมา เพื่อให้มั่นใจว่าในทุกพื้นที่ปฏิบัติงานของ ปตท. มีความปลอดภัย สภาพแวดล้อมในการทำงานถูกหลักอาชีวอนามัย และประสิทธิผลของการบริหารจัดการที่เทียบเท่าอุตสาหกรรมชั้นนำในระดับสากล ทุกพื้นที่ปฏิบัติการที่สำคัญของกลุ่ม ปตท. ได้ผ่านการรับรองระบบการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ตามมาตรฐาน มอก. และมาตรฐานสากล และได้รับรางวัลสถานประกอบการดีเด่นด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง  ยิ่งไปกว่านั้น ปตท. ยังมุ่งเน้นในเรื่องของการบริหารจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัย (Security) อย่างเป็นระบบ เพื่อลดความเสี่ยงของภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจได้

ปตท. ได้พัฒนาและประยุกต์ใช้เครื่องมือร่วมกับมาตรฐานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง มุ่งหวังให้เกิดการสร้างพฤติกรรมความปลอดภัยผ่านระบบรายงาน อุบัติการณ์ ซึ่งรวมถึงอุบัติเหตุ เหตุการณ์เกือบเกิดอุบัติเหตุ (Near Miss) และการกระทำ/ สภาพที่ต่ำกว่ามาตรฐาน (Sub-Standard Act/ Conditions) บน Intranet ซึ่งสามารถบันทึกเหตุการณ์ วิเคราะห์และสอบสวนหาสาเหตุหลัก และจัดทำมาตรการแก้ไขและป้องกัน แบบออนไลน์ และการแบ่งปันข้อมูลภายในองค์กรเพื่อเป็นแนวทางป้องกันเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันในอนาคต

ทั้งนี้ปตท. ได้กำหนด มาตรฐานการบริหารความมั่นคงปลอดภัยกลุ่ม ปตท. และแนวทางการประเมินความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยกลุ่ม ปตท. เพื่อเป็นกรอบการกำกับดูแลการดำเนินงานด้านความมั่นคงปลอดภัยให้สอดคล้องกันทั้งองค์กร ครอบคลุมทุกพื้นที่ปฏิบัติการของ ปตท. และกลุ่ม ปตท. ตั้งแต่ปี 2554 โดยได้จัดทำวิธีปฏิบัติงานเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของบุคลากรและสินทรัพย์ เพื่อใช้เป็นขั้นตอนการดำเนินงานของทั้งกลุ่ม ปตท. และมีหน่วยงานส่วนกลางดำเนินการตรวจประเมินผลการดำเนินงานตามคู่มือตรวจประเมินความมั่นคงปลอดภัยกลุ่ม ปตท. และนำผลจากการตรวจประเมินและข้อร้องเรียนการปฏิบัติงานด้านความมั่นคงปลอดภัยที่เกี่ยวข้องมาใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงระบบบริหารจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง  ทั้งนี้ ปตท. ได้ประสานงานกับเครือข่ายหน่วยงานราชการเพื่อดำเนินงานด้านการข่าว และสามารถขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินได้ทันท่วงที โดยจัดให้มีการซ้อมแผนด้านความมั่นคงปลอดภัยในพื้นที่ปฏิบัติงานต่างๆ ของกลุ่ม ปตท. ควบคู่ไปกับการซ้อมแผนฉุกเฉินเป็นระยะ เพื่อเตรียมความพร้อมและสามารถบริหารเหตุฉุกเฉินได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

ล่าสุดในเดือนกันยายน ที่ผ่านมา กลุ่มปตท. ได้รับ 22 รางวัล“สถานประกอบกิจการต้นแบบดีเด่น ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ประจำปี 2562 ระดับประเทศ” จำนวน 22 รางวัล ในงาน Thailand Labour Management Excellence Award 2019 ซึ่งจัดโดยกระทรวงแรงงาน

  • date : 07-04-2020