โรงไฟฟ้าแม่เมาะเปิดผลิตไฟฟ้าเครื่องที่ 4-7

โรงไฟฟ้าแม่เมาะเปิดผลิตโรงไฟฟ้าทดแทนเครื่องที่ 4-7 ด้วยกำลังผลิต 650 เมกะวัตต์ ชงต่อเครื่องที่ 8-9 และเครื่องที่ 10-13 เตรียมเสนอรมว.พลังงานคนใหม่ เคาะแผนลงทุน 8 โรงไฟฟ้าใหม่ กำลังผลิตรวม 6,150 เมกะวัตต์ ตามแผนพีดีพี ย้ำมุ่งพัฒนานวัตกรรมพลังงานอย่างไม่หยุดยั้ง สู่พลังงานสีเขียวเพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าไทยและเป็นศูนย์กลางระบบไฟฟ้าอาเซียน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาค

นายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4-7 เปิดการผลิตเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD ) ตั้งแต่ต้นปี 2562 ที่ผ่านมาแล้ว โดยมีกำลังการผลิตรวม 650 เมกะวัตต์ ส่วนหน่วยที่ 8-9 ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมจัดรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 1 เพื่อจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9  เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใช้ถ่านลิกไนต์จากเหมืองแม่เมาะเป็นเชื้อเพลิงมีขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 660 เมกะวัตต์ จำนวน 1 เครื่อง  เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8-9 ซึ่งจะถูกปลดออกจากระบบในปี 2565 จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9 เพื่อรักษาระดับกำลังผลิตและความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคเหนือ รวมถึงรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2561-2580 (PDP2018).

ส่วนการผลิตไฟฟ้าจากหน่วยที่ 10-13 ซึ่งมีกำลังผลิตรวม 1,200 เมกะวัตต์ จะทยอยหมดอายุปี 64-68 ซึ่งการผลิตไฟฟ้าทดแทนจากหน่วย 10-13 นี้ คาดว่าจะไม่สามารถสร้างทดแทนได้ เนื่องจากปริมาณถ่านหินที่ลดน้อยลง ดังนั้น หากกระทรวงพลังงานเห็นชอบสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนหน่วยที่ 8-9 แล้ว ก็จะทำให้ในช่วงหลังปี 70 กำลังผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะก็จะเหลือในอนาคตประมาณ 1,250 เมกะวัตต์ และจะใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงราว 8 ล้านตัน/ปี ครอบคลุมอายุโรงไฟฟ้า 30 ปี

ทั้งนี้ กฟผ.ได้เสนอแนวคิดการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในภาคเหนือ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับปริมาณถ่านหินสำรองเหมืองแม่เมาะที่ลดต่ำลงในอนาคต โดยเห็นว่าภาพการจัดส่งไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะจะต้องเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะนับเป็นโรงไฟฟ้าหลักขนาดใหญ่ที่ส่งไฟฟ้าจากภาคเหนือมาภาคกลาง ก็อาจจะต้องเป็นการส่งไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าภาคกลาง ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นเชื้อเพลิงแทน หรืออาจจะเป็นการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทดแทน ซึ่งยังคงต้องรอดูความชัดเจนจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศระยะยาว (PDP) ที่กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการจัดทำต่อไป

สำหรับ โครงการโรงไฟฟ้าเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะฯ เกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่  4-7 ขนาดกำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ ของ กฟผ. ได้หมดวาระการใช้งาน เนื่องจากมีอายุการใช้งานมานานถึง 33 ปี กฟผ. จึงมีนโยบายก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเดิม เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้ใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าน้อยลง รวมถึงปล่อยมวลสารน้อยลงอีกด้วย

โครงการโรงไฟฟ้าเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะฯ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 63 ไร่ บริเวณโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อน ใช้ถ่านหินลิกไนต์ภายในประเทศเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าทดแทนนี้จะใช้เครื่องผลิตไอน้ำแบบแรงดันเหนือวิกฤติ (Supercritical Pressure Steam Generator) ที่มีประสิทธิภาพสูงในการเผาไหม้ ซึ่งมีส่วนช่วยลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า รวมทั้งจะทำให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาน้อยลง นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (FGD) เครื่องช่วยควบคุมก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (Low NOx Burner) เครื่องกำจัดฝุ่นด้วยไฟฟ้าสถิตแรงสูง (ESP) พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ใหม่ที่สามารถกำจัดก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนแบบ Selective Catalytic Reduction (SCR) ซึ่งจะช่วยควบคุมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีกิจการค้าร่วม บริษัท อัลสตอม เพาเวอร์ ซิสเต็ม ประเทศฝรั่งเศส บริษัท อัลสตอม (ประเทศไทย) จำกัด และมารูเบนิ คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้จัดหาอุปกรณ์และก่อสร้างโรงไฟฟ้าจนแล้วเสร็จ รวมมูลค่างานก่อสร้างกว่า 35,312 ล้านบาท

ด้านนายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ และ โฆษก เปิดเผยว่า หลังจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เรียบร้อยแล้ว กฟผ.ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จะต้องจัดเตรียมแผนการดำเนินงานและโครงการลงทุนต่างๆ เพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่พิจารณา โดยส่วนใหญ่จะเป็นการดำเนินงานตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี2561-2580(PDP 2018) เช่น แผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เข้าระบบ 8 โรง กำลังผลิตตามสัญญารวม 6,150 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าน้ำพอง กำลังผลิต 650 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD) ปี2568,โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ขนาด 600 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2569,โรงไฟฟ้าพระนครใต้ 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี 2569 และอีก 1,400 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี 2570,โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ขนาด 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี 2570 และอีก 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี 2572,โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ขนาด 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี 2571 และอีก 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี 2578

รวมถึง แผนลงทุนระบบผลิตไฟฟ้าผสมผสานระหว่าง ‘พลังน้ำจากเขื่อน’ และ ‘พลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลล์ลอยน้ำบนเขื่อน’(Hydro-Floating Solar Hybrid) กำลังผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเริ่มทยอยเข้าระบบตั้งแต่ปี 2563-2580 โดยในส่วนของโครงการนำร่อง ติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการราว 2,000 ล้านบาท คาดว่า จะเปิดขายซองประมูลหาผู้ดำเนินการติดตั้ง(EPC) ในรูปแบบการเปิดประมูลแบบนานาชาติ หรือ international competitive bidding ต่อไป

นายพัฒนา เผยต่ออีกว่า สำหรับทิศทางการดำเนินภารกิจขององค์กรในอนาคต กฟผ. พร้อมปรับตัวและพร้อมรับมือเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าให้รองรับกับสถานการณ์พลังงานและพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยจะพัฒนา Grid Modernization เพื่อดูแลระบบไฟฟ้าให้สามารถรองรับพลังงานหมุนเวียนที่จะมีเพิ่มขึ้น เพื่อให้พลังงานไฟฟ้า ในอนาคตเป็นพลังงานสีเขียวโดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เช่น การปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น (Flexible Power Plant) เพื่อให้สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลักได้อย่างทันท่วงทีเมื่อพลังงานหมุนเวียนหายไป มีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ (Pumped Storage) และแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (BESS) นำร่อง 2 แห่ง คือ สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ และ สถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี มีระบบการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า มีระบบส่งไฟฟ้าที่สื่อสารข้อมูลกับระบบไฟฟ้าอัจฉริยะได้ และมีระบบการพยากรณ์และควบคุมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (Renewable Forecast Center) เป็นต้น

นอกจากนี้ กฟผ. จะพัฒนาโรงไฟฟ้าของ กฟผ. สู่การเป็นโรงไฟฟ้าดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพสูง แม่นยำ ควบคุมและสั่งการผ่านระบบดิจิทัล มีระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่ข้อมูลทั้งหมดถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบเพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลและนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ระบบ AI วิเคราะห์และประมวลผลการทำงาน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการควบคุมโรงไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้โรงไฟฟ้ามีประสิทธิภาพและมีความพร้อมจ่ายสูง โดยเริ่มที่โรงไฟฟ้าพระนครเหนือและโรงไฟฟ้าจะนะ รวมทั้ง กฟผ. ยังได้ร่วมมือกับ กฟภ. และ กฟน. จัดทำ National Energy Trading Platform (NETP) เพื่อรวบรวมข้อมูลการซื้อขายไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่ง กฟผ. จะเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการข้อมูลของประเทศ

ด้านระบบส่งไฟฟ้า กฟผ. มุ่งพัฒนาโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคงแข็งแรง สามารถเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ขยายขอบเขตการแลกเปลี่ยนซื้อขายพลังงานในระดับภูมิภาค (Grid Connectivity) พร้อมผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Power Grid) โดยในระยะแรกมีการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศแบบพหุภาคีและมัลติ (Multilateral Power Trade) เช่น ลาว ไทย มาเลเซีย จะมีการเพิ่มปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าระหว่าง 3 ประเทศ สปป.ลาว ไทย และมาเลเซีย (LTM) จาก 100 เมกะวัตต์ เป็น 300 เมกะวัตต์ และจะขยายผลไป 4 ประเทศในอนาคต (LTMS) พร้อมทั้งมีการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก เชื่อมสายส่งระหว่าง สปป.ลาว ไทย เมียนมาร์ เป็นต้น

นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีการพัฒนานวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าสู่รูปแบบใหม่ เป็นแบบ Hybrid เช่น ระบบ Wind Hydrogen Hybrid ซึ่งนำมาใช้ในโครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้าลำตะคอง ระยะที่ 2 บริเวณอ่างพักน้ำตอนบนโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา, โครงการโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อน (Hydro -Floating Solar Hybrid) ซึ่งจะนำร่องติดตั้งที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ซึ่งนับเป็นโครงการไฮบริดแห่งแรกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นต้น ซึ่ง กฟผ. จะเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมเพิ่มเติมอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับพลังงานหมุนเวียน และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ

  • date : 07-04-2020