10ปี “ปาล์มพัฒนาชายแดนใต้” เทงบ 300 ลบ.ลุยขยายกำลังผลิตครั้งใหญ่
บริษัท ปาล์มพัฒนาชายแดนใต้ จำกัด ผู้ผลิตปาล์มน้ำมันในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งดำเนินงานมากว่า 10 ปี เดินหน้าลงทุนกว่า 300 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตเป็น 120 ตันทะลาย/ชั่วโมง ในปี 2563 ตั้งเป้าอนาคตจะรับซื้อผลผลิตในพื้นที่ 70 เปอร์เซ็นต์ และนอกพื้นที่ 30 เปอร์เซ็นต์
ณัฐศศิ มณีโชติ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ปาล์มพัฒนาชายแดนใต้ จำกัด ผู้ผลิตปาล์มน้ำมันในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า เดิมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ไม่ค่อยปลูกปาล์ม เนื่องจากไม่มีตลาดรองรับ หรือกล่าวคือ ไม่มีโรงงานในพื้นที่ โดยมีเพียงแห่งเดียวที่บาเจาะ ซึ่งในขณะนั้นครอบครัวทำธุรกิจเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง จนมีเกษตรกรมาถามคุณพ่อว่า ถ้าปลูกปาล์มจะไปส่งที่ไหน เพราะไม่มีตลาดรองรับสำหรับผู้ปลูกในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จึงทำให้เป็นแรงบันดาลใจให้ไปศึกษาเรื่องปาล์ม และสร้างโรงงานขึ้น เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มมีตลาดรองรับ โดยเริ่มก่อตั้ง บริษัท ปาล์มพัฒนาชายแดนใต้ จำกัด ขึ้นในปี 2552 เป็นต้นมา
ปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 45 ตันทะลาย/ชั่วโมง โดยสามารถรองรับปาล์มได้วันละ 1,000 ตัน แต่ยังเป็นผลผลิตในในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพียง 30 เปอร์เซ็นต์ของปริมานการซื้อผลปาล์มทั้งหมด ซึ่งยังถือว่าเป็นสัดส่วนที่มีปริมาณน้อย โดยสาเหตุหลักที่ผลผลิตในพื้นที่น้อย มาจากการที่เกษตรกรไม่มีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปลูกปาล์ม ทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ บางรายผลิตได้เพียง 1 ตัน/ไร่/ปีเท่านั้น ดังนั้นทางโรงงานจึงร่วมกับสมาชิกเกษตรกรกว่า 1,000 คน ให้ความรู้ และกระตุ้นให้ตื่นตัวด้วยการจ่ายเงินปันผลให้ 10 เปอร์เซ็นต์ ของผลผลิตที่เข้าสู่โรงงาน เป้าหมายระยะแรกต้องการให้เกษตรกรพัฒนาผลผลิตเพิ่มเป็น 3 ตัน/ไร่/ปี
โดยล่าสุดบริษัทได้ลงทุนกว่า 300 ล้านบาท สำหรับขยายกำลังผลิตเพื่อรองรับผลผลิตที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งเพิ่มกำลังผลิตเป็น 60 ตันทะลาย/ชั่วโมง จากเดิมที่มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 45 ตันทะลาย/ชั่วโมง และจะเพิ่มกำลังผลิตเป็น 120 ตันทะลาย/ชั่วโมง หรือราว 2,000 ตัน/วัน ภายในปี 2563 ซึ่งแม้ว่าการขยายโรงงานในครั้งนี้ อาจจะเพิ่มอัตราการจ้างงานอีกไม่มากนัก เนื่องจากการผลิตหลัก ๆ ใช้เครื่องจักร แต่ก็ถือว่าเป็นการสร้างห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่เกษตรกรที่เพาะกล้าพันธุ์ดี ๆ ไว้ขาย และธุรกิจที่เกี่ยวข้องจะโตตาม เช่น กลุ่มรับจ้างปลูก รับจ้างตัด เป็นต้น ทั้งนี้ยังตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรับซื้อผลผลิตในอนาคต เป็นผลลิตในพื้นที่ 70 เปอร์เซ็นต์ และนอกพื้นที่ 30 เปอร์เซ็นต์
นอกจากการขยายกำลังผลิตน้ำมันปาล์มแล้ว บริษัทยังลงทุนกับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเส้นใยที่ได้หลังการหีบน้ำมันสามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงของบอยเลอร์ และขายให้โรงไฟฟ้าชีวมวล ส่วนเมล็ดที่ยังไม่กะเทาะ จะแยกได้ 2 ส่วน คือ กะลา กับเมล็ดในอบแห้ง ในส่วนของกะลาก็สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิง เมล็ดในนำเข้าโรงหีบน้ำมันเมล็ดใน สามารถใช้ทำสบู่ ครีมเทียม และขณะนี้โรงงานมีแผนขยายทำโรงงานน้ำมันเมล็ดในด้วย ส่วนกากที่เหลือจะส่งต่อเข้าอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ สำหรับทะลายที่เหลือยกให้เกษตรกรฟรี เพื่อนำไปใส่โคนต้นปาล์มบำรุงหน้าดิน ส่วนบางรายนำไปเพาะเห็ดโคนน้อยเป็นอาชีพเสริม สามารถสร้างรายได้เพิ่มเนื่องจากมีราคาดีถึงกิโลกรัมละ 400 บาท
ในส่วนของน้ำเสียจากอุตสาหกรรมปาล์ม ได้ส่งไปยังโรงไบโอแก๊ส นำไปหมักเพื่อผลิตแก๊ส ปัจจุบันผลิตไฟฟ้าได้ 2 เมกะวัตต์ และในอนาคตจะขยายกำลังผลิตไฟฟ้าเป็นขนาด 4.8 เมกะวัตต์ เพื่อรองรองรับกำลังการผลิตปาล์มที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยสุดท้ายเป้าหมายของโรงงาน คือ ซีโร่เวสต์ กำจัดหมดในโรงงาน ซึ่งทำให้ไม่มีของเสียกระทบกับสิ่งแวดล้อมรอบชุมชนโรงงาน ทำให้สามารถเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืนได้
- date : 07-04-2020