TASCO รอปูยางรับงานสร้างถนน

ครบรอบ 40 ปี บมจ.ทิปโก้แอสฟัลท์ เชื่อปีนี้ธุรกิจยางมะตอย กลับมาแรงได้น้ำมันดิบจากเวเนซูเอล่า ป้อนให้ทั้งปี และมีงานภาครัฐในการซ่อมสร้างอยู่ตลอด รวมถึงสร้างถังเก็บใหม่จะแล้วเสร็จต้นปีหน้า  

นายชัยวัฒน์ ศรีวรรณวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) (TASCO)  เปิดเผยถึงแผนธุรกิจในปี 2562 ว่า ปีนี้ยอดขายจะฟื้นตัวขึ้นจากปีที่ผ่านมา บริษัทฯ เชื่อว่าจะได้รับน้ำมันดิบจากประเทศเวเนซูเอล่า ซึ่งเป็นแหล่งป้อนน้ำมันดิบหลักให้กับทางบริษัทฯ อย่างต่อเนื่องทั้งปีประมาณ 12 ลำเรือ และตั้งเป้ายอดขายยางมะตอยรวมที่ 1.9 ล้านตัน โดยแบ่งเป็นยอดขายในประเทศราว 4.7-4.9 แสนตัน ส่วนที่เหลือเป็นยอดขายต่างประเทศ

สำหรับยอดขายในประเทศ ถือเป็นอีกปีที่ดีของบริษัทฯ จากความต้องการใช้ยางมะตอยในประเทศที่เพิ่มขึ้น จากงบประมาณภาครัฐบาลประจำปี 2562 ที่สูงขึ้น ในการซ่อม-สร้างถนน ด้านตลาดต่างประเทศ บริษัทฯ มองว่าจะมีปริมาณขายสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากคาดว่าจะได้รับน้ำมันดิบอย่างสม่ำเสมอและโรงกลั่นของบริษัทฯ ที่ประเทศมาเลเซียผลิตยางมะตอยได้ตามแผน

"ภาพรวมธุรกิจไตรมาสแรกปีนี้ ไม่น่าห่วง โดยเฉพาะตลาดในประเทศที่มีการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ขณะที่ตลาดต่างประเทศยอดขายฟื้นตัวดี หลังจากปลายปีที่ผ่านมา ยอดขายยางมะตอยลดลงไปมาก แต่ในช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ ม.ค.-ก.พ. เราขายยางมะตอยได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งโรงกลั่นสามารถกลับมาผลิตได้ตามปกติ สำหรับการซ่อมถังเก็บน้ำมันดิบที่มีความเสียหายจำนวน 1 ถัง และการปรับปรุงถังเก็บน้ำมันดิบอีกจำนวน 1 ถัง คาดว่าจะซ่อมแล้วเสร็จสิ้นปีนี้ ส่วนอีก 2 ถังที่เสียหายทั้งหมด จะถูกสร้างใหม่ คาดจะแล้วเสร็จในไตรมาส 1/63" นายชัยวัฒน์ กล่าว

บริษัทฯ ใช้ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมสากล ISO 14001 เป็นมาตรฐานการทำงานร่วมกับระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย จนกลายเป็นหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรที่พนักงานทุกคนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อลดและควบคุมมลพิษที่จะมีผลกระทบต่อสภาพอากาศ น้ำและดิน รวมถึง ควบคุมให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

โครงการสำคัญๆ ที่บริษัทฯได้ดำเนินการ คือ การเปลี่ยนมาใช้รถและเรือขนส่งยางมะตอยขนาดใหญ่เพื่อช่วยลดจำนวนเที่ยวในการจัดส่งสินค้า ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการอุ่นยางมะตอย และการใช้วัสดุกันความร้อนประสิทธิภาพสูงสำหรับรถขนส่งเพื่อลดการการสูญเสียพลังงานความร้อนระหว่างการขนส่งยางมะตอย รวมถึงการใช้ก๊าซแอลพีจีแทนการใช้ฟืนในการให้ความร้อนแก่ยางมะตอยระหว่างการขนถ่ายเพื่อลดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และลดสารแขวนลอยในอากาศ และการนำพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ทดแทนการใช้พลังงานไฟฟ้า ที่โรงงานนครราชสีมา เพื่อเป็นต้นแบบไปยังโรงงานอื่นๆ ภายในประเทศ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งในการช่วยลดภาวะโลกร้อน

  • date : 07-04-2020