ยงยุทธ จันทรโรทัย กุมบังเหียญกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ
ยงยุทธ จันทรโรทัย นั่งแท่นอธิบดี กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) วางแผนงานพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 ชูความสำเร็จปี 2560 ในพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำขนาดเล็ก พลังงานขยะ พลังงานชีวมวล พลังงานก๊าซชีวภาพ เชื้อเพลิงชีวภาพ เชื้อเพลิงรูปแบบใหม่ และการถ่ายทอดเผยแพร่และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ด้าน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เดินหน้านโยบายขับเคลื่อน Energy 4.0
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง นายยงยุทธ จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวงพลังงาน ไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งในการดำเนินงานของหน่วยงานได้ร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมและพัฒนาพลังงานทดแทนและดำเนินการอนุรักษ์พลังงานตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 และแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558-2579
โดยการดำเนินงานของ พพ. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมาได้ส่งเสริม สนับสนุน ผลักดันให้มีการพัฒนาพลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังน้ำขนาดเล็ก พลังงานขยะ พลังานชีวมวล พลังงานก๊าซชีวภาพ เพื่อเพิ่มการผลิตและใช้พลังงานทดแทน ควบคู่กับการส่งเสริม สนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีการใช้พลังงานและเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ยั่งยืนในระยะยาวต่อไป
ทั้งนี้การส่งเสริมและพัฒนาพลังงานทดแทน เป็นการดำเนินงานตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 (Alternative Energy Development Plan AEDP : 2015) โดยมีเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทน 39,388.69 ktoe ในปี 2579 หรือคิดเป็นสัดส่วนของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายร้อยละ 30 ซึ่งจาการดำเนินการที่ผ่านมาจนถึงปีงบประมาณ 2560 มีกรดำเนินงานแยกตามเทคโนโลยีสรุปได้ดังนี้
พลังงานแสงอาทิตย์
ในปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา มีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้า 2,692.26 MW เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 550.03 MW และใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผลิตความร้อน 8.98 ktoe เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 3.02 ktoe
พพ. ได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมที่สำคัญ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าและเพื่อผลิตความร้อนในปีงบประมาณ 2560 สรุปได้ดังนี้
การพัฒนาและส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์
- การจัดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับศูนย์การเรียนรู้ชุมชน 2. การจัดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
การพัฒนาและส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตความร้น
- การพัฒนาและส่งเสริมการใช้ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์
พลังงานลม
ในปีงบประมาณ 2560 มีการใช้พลังงานลมผลิตไฟฟ้า 627.82 MW เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 324.00 MW
ทั้งนี้ พพ. ได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมที่สำคัญ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานลมในปีงบประมาณ 2560 สรุปได้ดังนี้
- โครงการปรับปรุงกังหันลมผลิตไฟฟ้าในพื้นที่โครงการลูกพระดาบส ตามพระราชดำริ 2. โครงการศึกษาและพัฒนาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของกังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก
พลังงานน้ำขนาดเล็ก
ในปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมามีการใช้พลังงานน้ำขนาดเล็กผลิตไฟฟ้ารวม 182.28 MW เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 10.00 MW
พพ. ได้ดำเนินการโครงการและกิจกรรมที่สำคัญ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานน้ำขนาดเล็กในปีงบประมาณ 2560 สรุปได้ดังนี้
- โครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก 2. โครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำระดับหมู่บ้าน 3. โครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำชุมชน 4. โครงการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำระดับหมู่บ้านยั่งยืน
พลังงานขยะ
ในปีงบประมาณ 2560 มีการใช้พลังงานจากขยะผลิตไฟฟ้า 179.97 MW เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 39.04 MW และใช้พลังงานจากขยะผลิตความร้อนรวม 60.00 ktoe ลดลงจากปีที่แล้ว 22.00 ktoe
พพ. ได้ดำเนินโครงการและจัดกิจกรรมที่สำคัญ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานจากขยะในปีงบประมาณ 2560 สรุปได้ดังนี้
- โครงการศึกษาความเหมาะสมในการผลิตพลังงานจากยางรถยนต์ใช้แล้ว
พลังงานชีวมวล
ในปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา มีการใช้พลังงานชีวมวลผลิตไฟฟ้า 3,074.28 MW เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 262.39 MW และใช้พลังงานชีวมวลผลิตความร้อน 6,509.00 ktoe เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 69.00 ktoe
พพ. ได้ดำเนินการโครงการและกิจกรรมที่สำคัญ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานชีวมวลในปีงบประมาณ 2560 สรุปได้ดังนี้
- โครงการสนับสนุนเพื่อเปลี่ยนหัวเผาหม้อไอน้ำไปเป็นหัวเผาที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล
พลังงานก๊าซชีวภาพ
ในปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา มีการใช้ลังงานก๊าซชีวภาพผลิตไฟฟ้า 466.77 MW เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 58.54 MW และใช้พลังงานก๊าซชีวภาพผลิตความร้อน 601.00 ktoe เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 9.00 ktoe
พพ. ได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมที่สำคัญ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานก๊าซชีวภาพในปีงบประมาณ 2560 สรุปได้ดังนี้
- การสนับสนุนการจัดตั้งโครงข่ายก๊าซชีวภาพเพื่อการหุงต้มในชุมชน 2. โครงการส่งเสริมการผลิตไบโอมีเทนอัด (CBG) ในสถานประกอบการที่มีระบบก๊าซชีวภาพ
เชื้อเพลิงชีวภาพ
ในปีงบประมาณ 2560 มีการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ โดยมีการใช้เอทานอล 3.88 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 0.28 ล้านลิตร/วัน และมีการใช้ไบโอดีเซล 3.39 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากปีที่แล้ว 0.36 ล้านลิตร/วัน
พพ. ได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมที่สำคัญ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในปีงบประมาณ 2560 สรุปได้ดังนี้
- การศึกษาศักยภาพและความต้องการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในภาคขนส่งและอุตสาหกรรม
เชื้อเพลิงรูปแบบใหม่
พพ. ได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมที่สำคัญ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงรูปแบบใหม่ในปีงบประมาณ 2560 สรุปได้ดังนี้
- งานใบอนุญาติส่งออกถ่านหิน 2. การปรับปรุงกระบวนงานการออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าถ่านหิน 3. การขับเคลื่อนเพื่อบริหารจัดการการใช้ถ่านหิน
การถ่ายทอดเผยแพร่และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน
- การถ่ายทอดเผยแพร่และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและอนุรกษ์พลังงาน
ด้าน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน รายงานถึงทิศทางนโยบายขับเคลื่อน Energy 4.0 ว่า ขณะนี้ประเทศกำลังขับเคลื่อนการพัฒนาไปสู่ยุค Thailand 4.0 โดยปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจจากประเทศรายได้ปานกลาง สู่ประเทศรายได้สูง ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาขับเคลื่อน ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และการดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นคุณค่า (Value-Based Economy) หรือ Thailand 4.0
ในภาคพลังงาน กระทรวงพลังงานได้วางยุทธศาสตร์พลังงานฐานนวัตกรรม (Energy 4.0) ด้วยการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาเชื่อมโยงกับพลังงาน เช่น โซลาร์เซลล์ ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage Systems) หรือยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) เป็นต้น
อีกส่วนคือพลังงานฐานเกษตร ในเรื่องพลังงานจากพืช หรือรูปแบบการผลิตไฟฟ้าที่ผสมผสานระหว่าง “พลังงานธรรมชาติ” และ “พลังงานชีวภาพ” โดยต้องเป็นการต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ในอนาคตได้ด้วยพืชพลังงาน เช่น น้ำมันปาล์ม เอทานอล หรือพลังงานจากชีวมวลของเหลือจากการเกษตร อีกทั้งยังรวมถึงการผลิตไฟฟ้าที่ผสมผสานระหว่างพลังงานธรรมชาติและพลังงานชีวภาพ (SPP Hybrid Firm) ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการวิจัยด้านพลังงาน ที่มุ่งเน้นให้เกิดการใช้พลังงานที่สะอาดและมีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไปพร้อมกัน โดยมีการขับเคลื่อนที่ครอบคลุมพลังงานทั้งระบบ ตั้งแต่ผลิต จัดหา แปรรูป ขนส่ง จนถึงการใช้ และครอบคลุมถึงแผนพลังงานระยะยาว ได้แก่ แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า
มาตรการขับเคลื่อนที่สำคัญ 3 มาตรการ ได้แก่ 1. ด้านเชื้อเพลิงภาคขนส่ง อาทิ พัฒนาเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพให้มากขึ้น เพิ่มศักยภาพการขนส่งน้ำมันทางท่อ และใช้ระบบขนส่งทางราง ลดการใช้น้ำมันในรถยนต์ให้มากขึ้น 2. ด้านไฟฟ้า อาทิ การจัดทำแผนการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนรายภาค การสร้างตลาดซื้อขายไฟให้โรงไฟฟ้าเก่าที่มีศักยภาพ การเปลี่ยนอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง การนำร่องต้นแบบไมโครกริด 3. ด้านเชื้อเพลิงผลิตความร้อน อาทิ การสนับสนุนการอนุรักษ์พลังงาน ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน การเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ และการขับเคลื่อน Third Party Access การสร้างความต่อเนื่องการผลิต และการขยาย LNG Terminal และท่อก๊าซธรรมชาติ
ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เพียงแค่การสร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศ เพื่อให้ประเทศชาติในภาพรวมหลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ระดับปานกลาง ตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลเท่านั้น แต่หมายถึง กระบวนการสร้างความประหยัด ลดการใช้พลังงาน และก้าวสู่จุดหมายแห่งความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ทางพลังงานต่อไป
ที่มากรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เดิมชื่อว่า "การพลังงานแห่งชาติ" จัดตั้งขึ้น โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติการพลังงานแห่งชาติขึ้น ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 70 ตอนที่ 3 ลงวันที่ 6 มกราคม 2496 โดยมีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า "คณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ" เป็นผู้วางนโยบายและพิจารณาโครงการต่าง ๆ อันเกี่ยวกับพลังงาน และมีหน่วยราชการขึ้นหน่วยหนึ่ง ซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากรม มีชื่อว่า "การพลังงานแห่งชาติ" ตั้งแต่ วันที่ 7 มกราคม 2496 เป็นต้นมา
วิสัยทัศน์
"เป็นผู้นำด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนและส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในภูมิภาคเอเชียภายในปี พ.ศ. 2579"
To become a leader in alternative energy development and energy efficiency in Asia by 2036.
พันธกิจ
สร้างความยั่งยืนด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานของประเทศเพื่อให้เกิดการผลิตและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ยุทธศาสตร์ พพ.
ยุทธศาสตร์ที่ 1: เพิ่มสัดส่วนการผลิตและการใชัพลังงานทดแทน
เป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์
- มีสัดส่วนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น
กลยุทธ์
1) ส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น
2) สร้างกลไกการกำกับ สนับสนุน ให้ประเทศมีการพัฒนาด้านพลังงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : เพิ่มประสิทธิภาพการใชัพลังงาน
เป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์
- มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
กลยุทธ์
1) ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
2) สร้างกลไกการกำกับ สนับสนุน ให้ประเทศมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการองค์กรและพัฒนาองค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
เป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์
- เพื่อให้การบริหารจัดการและการพัฒนาองค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
กลยุทธ์
1) บูรณาการการทำงานภายในอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
2) พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและองค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานเพื่อสนับสนุนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ
- date : 17-11-2018