พงศธร ทวีสิน นั่งแท่นหัวเรือใหญ่ ปตท.สผ.
“พงศธร ทวีสิน” ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ของ ปตท.สผ. มีผล 1 ต.ค.นี้ ชงวิสัยทัศน์จะนำ ปตท.สผ. ให้เป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแห่งชาติชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย ที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันทัดเทียมกับบริษัทชั้นนำนานาชาติ ย้ำความสำเร็จครึ่งปีแรกกำไรสุทธิ536 ล้านดอลลาร์ ล่าสุดรับ 3 รางวัลระดับสากล Asian Excellence Awards 2018
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2561 นายพงศธร ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ สำรวจและผลิตปิโตรเลียม บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่แทนนายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ที่จะเกษียณอายุการทำงานในวันที่ 30 กันยายน 2561 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป และยังได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ ปตท.สผ. อีกตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งจะมีผลเมื่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ให้ความเห็นชอบ
ทั้งนี้ นายพงศธร มีวิสัยทัศน์ที่จะนำ ปตท.สผ. ให้เป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแห่งชาติชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย ที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันทัดเทียมกับบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมชั้นนำนานาชาติ โดยการใช้เทคโนโลยีเพื่อการบริหารต้นทุน และการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการทำงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อจัดการปิโตรเลียมให้แก่ประเทศอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังมีความมุ่งมั่นที่จะนำ ปตท.สผ. ให้เป็นบริษัทชั้นนำในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและธุรกิจสนับสนุนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจด้านพลังงาน ต่อยอดจากธุรกิจหลัก (Core Business) เพื่อพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ โดยจะเน้นให้องค์กรมีความคล่องตัว (Agile) ยืดหยุ่น สามารถรองรับธุรกิจทุกรูปแบบ (Fit-for-purpose) และพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
อนึ่ง ปัจจุบัน นายพงศธรดำรงแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำรวจและผลิตปิโตรเลียม และรักษาการ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบริหารการเปลี่ยนแปลงธุรกิจและองค์กร และก่อนหน้านี้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ โดยรับผิดชอบดูแลโครงการผลิต รวมถึงดูแลงานสนับสนุนปฏิบัติการทั้งหมดของ ปตท.สผ.
ด้านผลประกอบการของ ปตท.สผ. ในครึ่งแรกของปี 2561 มีกำไรจากการดำเนินงานปกติ (recurring net income) อยู่ที่ 640 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 20,381 ล้านบาท)สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 69 จาก 378 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 13,154 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม ปตท.สผ. มีขาดทุนจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติ (non-recurring items) รวม 104 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 3,410 ล้านบาท) โดยหลักเป็นการขาดทุนและค่าใช้จ่ายทางภาษีจากการอ่อนตัวของค่าเงินบาทระหว่างงวด และขาดทุนจากการป้องกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่กระทบต่อกระแสเงินสดของ ปตท.สผ. ส่งผลให้ครึ่งแรกของปี 2561 มีกำไรสุทธิ (net income) 536 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 16,971 ล้านบาท) ลดลงประมาณร้อยละ 6 จาก 569 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 19,820 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560
ทั้งนี้ ปตท.สผ. มีรายได้รวมในครึ่งปีแรก จำนวน 2,562 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 81,343 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 จาก จำนวน 2,121 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 73,693 ล้านบาท) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยที่ปรับตัวสูงเป็น 45.51 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จาก 38.04 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และปริมาณขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 297,999 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จาก 292,709 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ในส่วนของต้นทุนต่อหน่วย (unit cost) สำหรับครึ่งปีแรกปรับตัวขึ้นจาก 28.29 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ มาอยู่ที่ 30.37 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 7% เป็นผลของค่าภาคหลวงที่สูงขึ้นตามรายได้และการปรับตัวของค่าเสื่อมจากการรับรู้สินทรัพย์ที่พร้อมใช้งานของโครงการคอนแทร็ค 4 และโครงการเอส 1 ซึ่ง ปตท.สผ. เชื่อว่าจะสามารถรักษาต้นทุนต่อหน่วยสำหรับปี 2561 ได้ในระดับ 30-31 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ
ปตท.สผ. ยังเน้นดำเนินธุรกิจตามแผนกลยุทธ์ 3R (Reset-Refocus-Renew) โดยในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ได้มีความคืบหน้าจากการดำเนินการตามกลยุทธ์ Refocus โดยการเข้าซื้อสัดส่วนในโครงการบงกชจากบริษัทในเครือของกลุ่มเชลล์แล้วเสร็จ ส่งผลให้ ปตท.สผ. มีสัดส่วนการถือสัดส่วนในโครงการบงกชเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 66.6667 และปริมาณการขายเพิ่มขึ้นประมาณ 35,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน
“ปตท.สผ. มองหาโอกาสและปรับแผนการลงทุนอยู่เสมอ สะท้อนผ่านการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา จากการเข้าซื้อสัดส่วนร้อยละ 22.2222 ในแหล่งบงกช ล่าสุดในเดือนกรกฎาคม ปตท.สผ. ได้อนุมัติขายสัดส่วนการลงทุนทั้งหมดในแหล่งมอนทารา พร้อมทั้งเดินหน้าประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุสัมปทานทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณ โดย ปตท.สผ. ให้ความสำคัญกับการลงทุนและความพยายามที่จะเข้าซื้อกิจการเพิ่มเติมในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มีความชำนาญและความเสี่ยงตํ่า โดยหลักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลางเพื่อสร้างความเติบโตทั้งในเรื่องของปริมาณขายและปริมาณสำรอง”
นอกจากนี้ โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ได้รับอนุมัติแผนพัฒนาจากรัฐบาลแอลจีเรียแล้ว ขณะที่โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน มีความคืบหน้าอย่างมากทั้งในเรื่องการเตรียมการก่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว และการสรุปสัญญาซื้อขายระยะยาวกับผู้ซื้อ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision หรือ FID) โดยมีเป้าหมายภายในครึ่งแรกของปีหน้า
ด้านความสำเร็จล่าสุด ปตท.สผ. ได้รับรางวัล Asia’s Best CEO (Investor Relations), Asia’s Best CFO (Investor Relations) และ Best Investor Relations Company ตามลำดับ ในงาน the 8th Asian Excellence Award 2018 ซึ่งจัดขึ้นโดย Corporate Governance Asia นิตยสารด้านการเงินที่ส่งเสริมบรรษัทภิบาลของฮ่องกงและเอเชีย พิธีมอบรางวัลจัดขึ้น ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งรางวัลดังกล่าวสะท้อนถึงความสำเร็จและความเป็นเลิศด้านการบริหารองค์กร การจัดการทางการเงิน และนักลงทุนสัมพันธ์ของบริษัท
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราต้องพึ่งพาการใช้ก๊าซธรรมชาติมากมายในชีวิตประจำวัน โดยมากกว่า 60% ของไฟฟ้าที่คนไทยใช้ในแต่ละวันนั้น ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ และเรายังใช้เชื้อเพลิงสะอาดในรถยนต์ (CNG) เป็นก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในครัวเรือนและอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งยังเป็นสารตั้งต้นที่สำคัญของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอีกด้วย
นับว่าเป็นโขคดีของคนไทยที่มีการสำรวจพบแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ทางตอนใต้ของอ่าวไทยนอกชายฝั่งจังหวัดสงขลาออกไปประมาณ 200 กิโลมตร อันเป็นที่ตั้งของโครงการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติ “แหล่งบงกช” จากวันนั้นถึงวันนี้แหล่งบงกชครบรอบการผลิต 25 ปี เหล่าพนักงานที่ปฏิบัติการในแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช ของบริษัท ร่วมกันแปรอักษรเป็นเลข 25
ทั้งนี้แหล่งบงกชนับเป็นจุดเริ่มต้นของคนไทยในการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของบริษัทไทยในการปฏิบัติภารกิจเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานตามพันธสัญญาที่มีต่อประเทศมาโดยตลอด 25 ปี
แหล่งบงกช เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญในอ่าวไทย ดำเนินการโดย ปตท.สผ. ซึ่งเป็นบริษัทคนไทย เริ่มผลิตก๊าซฯ ครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 2536 เรียกได้ว่าเป็นโรงเรียนต้นแบบ และเป็นสัญลักษณ์แห่งการพัฒนาและส่งต่อองค์ความรู้ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของคนไทยจากรุ่นสู่รุ่น
- date : 09-11-2018