วิบูลย์ นั่งหัวเรือใหญ่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย นั่งแท่นผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ชู 7 นโยบายสร้างความเข้มแข็ง สู่อนาคต มุ่งให้ กฟผ. เป็นกลไกหลักในการพัฒนาประเทศ ประกาศเดินหน้าปรับตัวรับเทรนด์โลก ประกาศความมุ่งมั่นพร้อมก้าวสู่ Energy 4.0 ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนที่ 14 แถลงนโยบายต่อผู้ปฏิบัติงานอย่างเป็นทางการ พร้อมกันทั่วประเทศ วางแนวนโยบาย 7 ข้อ สู่อนาคต ให้ กฟผ. มีความเข้มแข็งและเป็นกลไกหลักในการพัฒนาประเทศ โดยมุ่งเน้นยืนหยัดความสำเร็จในภารกิจหลัก เสริมสร้างธุรกิจใหม่ และให้ความสำคัญกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อแก้ปัญหาการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในระยะยาว ขอให้ผู้ปฏิบัติงานเชื่อมั่นในองค์การ และร่วมมือกันทำงานเพื่อประโยชน์ประเทศชาติเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ได้เข้าทำงานที่ กฟผ. ตั้งแต่ปี 2525 สมัยผู้ว่าการ กฟผ. ท่านแรก คือคุณเกษม จาติกวณิช สำหรับทิศทางและแนวนโยบายการดำเนินงานของผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 14 มี 7 คือ

1. ผลักดันงานโครงการที่ได้รับอนุมัติให้เป็นไปตามแผน ซึ่งเป็นงานหลักของ กฟผ. บรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP 2015 ให้สำเร็จ ทั้งโครงการโรงไฟฟ้า อาทิ โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ระยะที่ 1 โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าบางปะกง เครื่องที่ 1 - 2 และโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4 - 7 รวมถึงโรงไฟฟ้ากระบี่และเทพา เนื่องจากยังอยู่ในแผน PDP 2015 ด้านโครงการระบบส่ง ปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าภาคกลางและภาคใต้ ขนาด 500 เควี ซึ่งได้เดินหน้าโครงการไปแล้วบางส่วน และบางส่วนอยู่ระหว่างการออกแบบ เพื่อสร้างความพร้อมให้ประเทศไทยที่จะเป็นศูนย์กลางของ ASEAN POWER GRID และรองรับพลังงานหมุนเวีย

นอกจากนี้ ยังมีการบริหารจัดการด้านเชื้อเพลิงที่ต้องทำให้สำเร็จ คือ การจัดหาเชื้อเพลิง LNG ไม่เกิน 1.5 ล้านตัน ในปี 2561 และการดำเนินโครงการ FSRU 5 ล้านตัน/ปี ภายในปี 2567 ซึ่งหาก กฟผ. สามารถดำเนินตามแผนงานได้แล้วจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับ กฟผ. ในระยะยาว ที่ได้แสดงศักยภาพของ กฟผ. ซึ่งจะก่อให้เกิดความเชื่อมั่น และอาจจะสามารถต่อยอดไปถึงการที่ กฟผ. สามารถเข้าไปลงทุนในการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่น ๆ ต่อไป สำหรับโครงการพลังงานหมุนเวียน อาทิ โครงการโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. โครงการพลังน้ำท้ายเขื่อนชลประทาน โครงการชีวมวลประชารัฐวิสาหกิจ ซึ่งโครงการชีวมวลนี้อาจสามารถแก้ไขปัญหาสายส่งที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ในบางพื้นที่ ส่วนจะมีการเพิ่มเติมสัดส่วนกำลังผลิตในโรงไฟฟ้าชนิดไหนอย่างไรต้องรอแผน PDP ฉบับใหม่ ที่คาดว่าจะออกในราวเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2561

2. ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชนตั้งแต่ต้นทาง ควรมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส เพื่อให้ประชาชนทราบรายละเอียดว่าเป็นโครงการเกี่ยวกับอะไร ซึ่งเป็นเรื่องของสิทธิชุมชนที่ควรจะต้องรู้และรับทราบข้อมูลโครงการทั้งหมด โดยทำความเข้าใจและพูดคุยกับชาวบ้าน รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เมื่อชาวบ้านเข้าใจแล้ว จะต้องนำไปสู่ข้อตกลงร่วมของชุมชนก่อนเดินหน้าโครงการ ทั้งโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและโครงการก่อสร้างระบบส่ง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการไม่ยอมรับการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ดังเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

3. แสวงหาพันธมิตรและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เครือข่ายพันธมิตรเป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งในอนาคต ต้องมีความร่วมมือกับหลายภาคส่วนเพื่อให้สามารถดำเนินงานไปได้อย่างสะดวก ทั้งพันธมิตรเก่า และแสวงหาพันธมิตรใหม่

4. ส่งเสริมนวัตกรรมเพื่ออนาคตสู่เวทีโลก เน้นที่การสร้างสิ่งประดิษฐ์และแนวคิดใหม่ โดยเฉพาะนวัตกรรมที่ กฟผ. คิดค้นมาได้ ส่งเสริมการประกวดผลงานไปสู่ต่างประเทศ และไม่ละเลยนวัตกรรมที่ประกวดจนได้รับรางวัลต้องนำกลับมาใช้ประโยชน์ และสื่อสารให้สาธารณชนได้รับทราบ รวมถึงการสนับสนุนให้หน่วยงานทั้งภายในและภายนอก กฟผ. นำนวัตกรรมไปต่อยอดจากของเดิมหรือนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จแล้ว โดยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในรูปแบบอื่นที่ไม่จำกัดเพียงแวดวงพลังงานไฟฟ้าเท่านั้น

5. สร้างการเติบโตในธุรกิจใหม่ ได้แก่ การพัฒนาผลงานวิจัย สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่หรือตลาดใหม่ เพื่อต่อยอดธุรกิจของ กฟผ. ร่วมถึงการร่วมมือกับเอกชน โครงการประชารัฐ การขยายงานผ่านบริษัทในกลุ่ม กฟผ.

6. ปรับโครงสร้างและพัฒนาคน เนื่องจากภายใน 4 - 5 ปีข้างหน้า จะมีผู้เกษียณอายุกว่า 6,000 คน ดังนั้น จึงต้องมีการปรับตัว ปรับการทำงาน ปรับโครงสร้างให้มีความกระชับคล่องตัว โดยดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ กฟผ. หากผ่านความเห็นชอบแล้วจะมีการชี้แจงกับผู้ปฏิบัติงานต่อไป ยืนยันว่าไม่มีการปลดพนักงานแน่นอน ส่วนในอนาคตอาจมีการเปิดรับพนักงานเพิ่มในสาขาวิชาชีพที่มีความจำเป็น นอกจากนี้ยังจะเร่งสร้างระบบสืบทอดตำแหน่ง (Successor) ทั้งตำแหน่งภายใน กฟผ. และบริษัทในกลุ่ม ทั้งยังจะยึดนโยบายเรื่องลดกระบวนการที่ไม่จำเป็น (LEAN) เพื่อให้งานขององค์การมีประสิทธิภาพมากขึ้น

7. ก้าวสู่องค์การแห่งความภาคภูมิใจของประเทศ เราจะทำอย่างไรให้คนในประเทศเห็นว่าควรมี กฟผ. อยู่ และต้องเห็นค่า กฟผ. ในวันนี้ ไม่ใช่ในวันที่ไม่มี กฟผ. อยู่แล้ว ดังนั้น กฟผ. ต้องแสดงให้เห็นว่า กฟผ. ต้องดำรงอยู่เพื่อความสุขของคนไทย และเป็นกลไกสำคัญของประเทศ โดยพนักงานทุกคนเป็นเสมือนผู้แทนภาพลักษณ์ กฟผ. ทุกคนจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นแก่สาธารณชนได้

นอกจากนี้ ผู้ว่าการ กฟผ. ยังได้ฝากแนวคิดและหลักการบริหารงาน 4 ข้อ ได้แก่ 1. ดำเนินงานตามกรอบกฎหมายและนโยบายภาครัฐ ตามระบบการกำกับดูแลที่ดี ภายใต้กรอบธรรมาภิบาล 2. มุ่งเน้นผลประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ 3. มุ่งสร้างและพัฒนาบุคลากรให้เป็นคนดี คนเก่ง มีความคิดสร้างสรรค์และทักษะด้านนวัตกรรม และ 4. ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและนำนวัตกรรมมาเพิ่มประสิทธิภาพงาน

กฟผ. จะมุ่งสู่ Energy 4.0 นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาระบบไฟฟ้า ได้แก่ การพัฒนาเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) นำร่องที่ จ.แม่ฮ่องสอน ที่ผู้ผลิตและผู้ใช้พลังงานสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันผ่านระบบสารสนเทศ การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Energy Storage) เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีเสถียรภาพ และการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตไฟฟ้าได้ บางช่วงเวลาให้พึ่งพาได้ตลอดเวลา โดยจับคู่แหล่งผลิตตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปในรูปแบบที่เรียกว่า Hybrid เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับและกังหันลมผลิตไฟฟ้าที่ลำตะคอง จ.นครราชสีมา รวมถึงมีการเตรียมรองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยพัฒนารถต้นแบบและสถานีชาร์จไฟฟ้า ตลอดจนเตรียมพัฒนาพื้นที่ สำนักงานใหญ่ กฟผ. จ.นนทบุรี ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) บนพื้นที่ 300 ไร่ เพื่อเป็นต้นแบบการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเห็นได้ว่า กฟผ. เป็นส่วนหนึ่งในขับเคลื่อนพลังงานหมุนเวียนให้บรรลุตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558 - 2579 (AEDP 2015) พร้อมทั้งวิจัยพัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน

ด้านการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ซึ่งกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง กฟผ. ได้เดินหน้าผลักดันและพัฒนาการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน โดยต้องดูแลให้มีการพัฒนาและเติบโตอย่างเหมาะสม ให้สอดคล้องกับนโยบายของปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานกรรมการ กฟผ. ที่ต้องการให้ กฟผ. เป็นองค์กรหลักในการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะในส่วนที่เอกชนไม่สามารถลงทุนได้ และทำให้เกิดความเสถียร ซึ่งจะนำเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน (Energy Storage ) เข้ามาเสริม โดยแผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในส่วนของ กฟผ. จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจาก 513 เมกะวัตต์ เป็น 2,000 เมกะวัตต์ ในช่วง 20 ปีข้างหน้าคือจากปัจจุบันไปจนถึงปี 2579

ในส่วนของการพัฒนา Energy Storage นั้น กฟผ. ได้มีโครงการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage) ในระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อควบคุมการจ่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้เสถียร บริหารความแออัดในสายส่ง และสามารถกักเก็บและจ่ายไฟฟ้าในช่วงที่ความต้องการไฟฟ้าสูงได้ ในพื้นที่ที่มีพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์กระจุกตัว ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 แห่ง และมีแผนจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2561

ขณะเดียวกัน กฟผ. ได้ประกาศความมุ่งมั่นที่จะรับผิดชอบต่อสังคมตามมาตรฐานสากล ISO 26000 ทั้งในเรื่อง CSR in Process หรือ CSR ในกระบวนการทำงาน เช่น การผลิตไฟฟ้าด้วยคุณภาพมาตรฐานสากล (ISO / CSR - DIW) การปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในสนธิสัญญา COP 21 ที่ กฟผ. ร่วมรับผิดชอบเป้าหมายของประเทศ โดย กฟผ. มีเป้าหมายชัดเจนที่จะลดให้ได้ 4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2563 และ 8 ล้านตันฯ ในปี 2568 และ 12 ล้านตันฯ ในปี 2573 นอกจากนี้ ในปี 2560 กฟผ. ได้เปิดรับคนพิการเป็นพนักงาน 20 อัตรา รวมทั้งการจ้างงานอัตราท้องถิ่นด้วย ส่วน CSR after Process หรือการดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสังคม กฟผ. มีการสร้างชุมชนต้นแบบชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน 32 แห่งทั่วประเทศ การปลูกป่า กฟผ. ซึ่งปลูกแล้วถึง 4.6 แสนไร่ การรณรงค์ประหยัดพลังงานที่นอกจากผลิตภัณฑ์เบอร์ 5 ปีนี้จะมีการพัฒนาเสื้อเบอร์ 5 ที่ไม่จำเป็นต้องรีด ร่วมกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ทำให้ลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ ส่วนการส่งเสริมกีฬา เช่น กีฬายกน้ำหนัก ในปี 2560 – 2563 ได้เพิ่มการสนับสนุนสมาคมยกน้ำหนักฯ จากปีละ 16 ล้านบาท เป็น 20 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมนักกีฬาไทยคว้าชัยโอลิมปิก ตลอดจนก่อสร้าง ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. 8 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งได้เปิดให้บริการแล้ว 3 แห่ง และเปิดเพิ่มในปี 2560 ที่ กฟผ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ สำนักงานใหญ่ กฟผ. จ.นนทบุรี

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กฟผ. มุ่งมั่นพัฒนามาตรฐานคุณภาพการให้บริการ โดยได้รับรางวัลฯ และมาตรฐานต่างๆ จำนวนมากทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจากในประเทศและต่างประเทศ ล่าสุด กฟผ. ได้ประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ พร้อมทั้งจัดทำรายงานการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกขององค์กร จนได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO 14064 – 1 จากบริษัท บูโร เวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด รวม 12 หน่วยงาน ได้แก่ 1. โรงไฟฟ้าพระนครใต้ 2. โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ 3. โรงไฟฟ้าวังน้อย 4. โรงไฟฟ้าแม่เมาะ 5. โรงไฟฟ้าน้ำพอง 6. โรงไฟฟ้าบางปะกง 7. โรงไฟฟ้ากระบี่ 8. โรงไฟฟ้าจะนะ 9. เหมืองแม่เมาะ 10. สำนักงานใหญ่ กฟผ. 11. ศูนย์ซ่อมและผลิตอะไหล่โรงไฟฟ้า (สำนักงานหนองจอก) และ 12. ศูนย์บำรุงรักษาไทรน้อย

การับได้รับรางวัลฯ ดังกล่าว เป็นการยืนยันถึงผลสำเร็จของความพยายามที่หน่วยงานสามารถดำเนินการขั้นสำคัญนี้ได้ และเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กฟผ. ให้สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศ เป็นการแสดงออกถึงความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าระดับประเทศในการร่วมลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและแก้ไขสภาวะโลกร้อนในระดับนานาชาติ

สำหรับการดำเนินงานในครั้งนี้ กฟผ. ได้ประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ พร้อมทั้งจัดทำรายงานการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกขององค์กร จนได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO 14064 - 1 จากบริษัท บูโร เวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด รวม 12 หน่วยงาน

การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นวิธีการหนึ่งในการแสดงข้อมูลการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมการดำเนินงานขององค์กร ทำให้สามารถจำแนกสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยยะสำคัญ โดย กฟผ. เริ่มดำเนินการจัดทำรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโรงไฟฟ้าและหน่วยงานต่างๆ ตามมาตรฐาน ISO 14064 - 1 ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการดำเนินงานตามภารกิจขององค์กร อันจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศ

  • date : 21-06-2018