กลุ่มบ๊อชสร้างยอดขายและกำไรเติบโตเหนือคาดการณ์

ความสำเร็จของธุรกิจพุ่งทะยานในปี 2560

  • ยอดขายเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 7.8 หมื่นล้านยูโร
  • กำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษีไต่ระดับอยู่ที่ 5.3 พันล้านยูโร
  • กลุ่มธุรกิจโซลูชั่นส์แห่งการขับเคลื่อนเติบโตมากกว่าภาคการผลิตยานยนต์โดยรวม
  • หน่วยปฏิบัติการอุตสาหกรรม 4.0 ที่ตั้งใหม่มีพนักงาน 500 คน
  • เตรียมพร้อมโซลูชั่นส์ทันสมัยมากมายเพื่อเกษตรกรรมอัจฉริยะและเมืองอัจฉริยะ
  • มร. เดนเนอร์ ซีอีโอของกลุ่มบ๊อชกล่าว “เราตระหนักถึงศักยภาพแห่งการเชื่อมต่อก่อนใคร และตอนนี้ เรากำลังแปลงมันให้เป็นความสำเร็จทางธุรกิจให้กับองค์กร”

ชตุ๊ทการ์ต และลุดวิกส์บวก, เยอรมนี –ในปี 2560 กลุ่มบ๊อชสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยจากตัวเลขเบื้องต้นพบว่า บ๊อชซึ่งผู้เป็นผลิตและจัดจำหน่ายเทคโนโลยีและบริการชั้นนำของโลก สามารถทำยอดขายได้สูงถึง 7.8 หมื่นล้านยูโรในปีที่ผ่านมา หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 จากปีก่อนหน้า เมื่อปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ทั้งนี้ ยอดขายของกลุ่มได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน คิดเป็นประมาณ 1.2 พันล้านยูโร "เราสร้างการเติบโตได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้และยังคงสร้างผลกำไรดีขึ้น โดยยอดขายในปี 2560 ของบริษัทฯ นับว่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์” ดร. โวคมาร์ เดนเนอร์ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท

บ๊อช กล่าวในงานแถลงข่าวผลประกอบการเบื้องต้นของบริษัทฯ ณ เมืองลุดวิกส์บูวก ประเทศเยอรมนี

ความแข็งแกร่งด้านนวัตกรรมและกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อกัน (connectivity) ส่งผลให้บริษัทฯ มีการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยดร. เดนเนอร์ อธิบายว่า “เราตระหนักถึงศักยภาพแห่งการเชื่อมต่อก่อนใคร และตอนนี้ เรากำลังแปลงมันให้เป็นความสำเร็จทางธุรกิจให้กับบริษัทฯ” ในปี 2017 รายได้จากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) ทะยานไปอยู่ที่ราว 5.3 พันล้านยูโร ซึ่งเทียบเท่ากับกำไรจากการดำเนินงาน (EBIT margin) ที่อัตราร้อยละ 6.8 ศาสตราจารย์สเตฟาน อเซ็นเคิร์ชเบาเมอร์ ประธานกรรมการฝ่ายการเงินและผู้ช่วยประธานคณะกรรมการบริหารได้อธิบายว่า “ความสำเร็จของกลุ่มบ๊อชจากธุรกิจหลักของบริษัทฯ ช่วยสร้างแหล่งเงินทุนเพื่อการดำเนินงานต่างๆ ตามความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ที่จะเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเทคโนโลยีด้าน IoT และโซลูชั่นส์แห่งการขับเคลื่อนชั้นนำของโลก” ในปีที่กำลังจะมาถึงนี้ บริษัทฯ เห็นโอกาสมากมายในการนำเทคโนโลยีแห่งการเชื่อมต่อไปต่อยอดในด้านอื่นๆ อาทิ การใช้ในโรงงาน อาคาร และเมืองต่างๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านการคมนาคม นอกจากนี้ ดร. เดนเนอร์ยังเน้นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรเพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล (digital transformation)

หน่วยปฏิบัติการใหม่ : หน่วยปฏิบัติการอุตสาหกรรม 4.0

ดร. เดนเนอร์กล่าวว่าการเชื่อมต่อกันและการเปลี่ยนแปลงเป็นดิจิทัล (digitalization) ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของงานรายวันของบริษัทฯ อย่างขาดเสียไม่ได้ “การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เราได้พิสูจน์ว่า สำหรับบ๊อช ความเป็นเลิศไม่ได้วัดกันด้วยสิ่งที่ปรากฏบนหน้าเอกสารเท่านั้น แต่วัดกันที่การปฏิบัติจริงด้วย ทั้งในด้านเทคโนโลยีและการพาณิชย์” กลุ่มบ๊อชเล็งเห็นศักยภาพด้านยอดขายอันมหาศาลจากอุตสาหกรรมแห่งการเชื่อมต่อ (connected industry) หรืออุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) ทั้งนี้ หน่วยงานด้านอุตสาหกรรมแห่งการเชื่อมต่อของบ๊อชซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการใหม่ เริ่มดำเนินงานในเดือนมกราคม 2561 ด้วยพนักงาน 500 คน ณ ที่แห่งนี้ บ๊อชได้รวบรวมกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม 4.0 รวมถึงความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านซอฟต์แวร์และการบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเอาไว้ด้วยกัน โดยบ๊อชจะใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อให้บริการด้านการให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานภายนอก นอกจากนี้ นับจากปัจจุบันไปจนถึงปี 2563 บริษัทฯ ตั้งเป้าที่จะสร้างประโยชน์จากอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเพิ่มยอดขายให้ได้เกินกว่า 1 พันล้านยูโร ซึ่งการเข้าถือสิทธิเป็นหุ้นส่วนกับผู้ให้บริการด้านแผนที่ HERE จะช่วยเสริมศักยภาพให้บ๊อชในการดำเนินโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับด้านอุตสาหกรรม 4.0 อีกมากมาย

การเชื่อมต่อช่วยจัดการปัญหาขั้นพื้นฐานต่างๆได้

ดร. เดนเนอร์เน้นย้ำความสำคัญของการเชื่อมต่อกันด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (IoT) ว่า “โลกของเราจะเป็นที่ที่น่าอยู่สำหรับผู้คนหลายพันลานได้ ก็ต่อเมื่อเราสามารถค้นพบโซลูชั่นส์ที่มีนวัตกรรมที่จะช่วยแสดงให้เห็นปัญหาต่างๆ และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้” ปัจจุบัน บ๊อชมีโครงการด้าน IoTถึง 170 โครงการที่ช่วยจัดการปัญหาขั้นพื้นฐานต่างๆ อาทิ การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร การขยายตัวของเมือง มลภาวะทางอากาศ และการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ เป็นต้น “เราใช้เทคโนโลยี IoT ในการเชื่อมต่อโลกเข้าด้วยกันเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คนให้ดียิ่งขึ้น” ดร. เดนเนอร์กล่าว ตัวอย่างเช่น ในปี 2560 บริษัทฯ ได้แนะนำโซลูชั่นใหม่ของการเพาะปลูกอัจฉริยะ (smart farming) หรือเกษตรกรรมที่เชื่อมต่อกัน (connected agriculture) ที่ตั้งเป้าว่าจะช่วยผลิตอาหารให้มากพอที่จะเลี้ยงดูประชากร 8 พันล้านคนภายในปี 2568 โดยกลุ่มบ๊อชเน้นการใช้ประโยชน์จากโซลูชั่นที่ใช้เซนเซอร์ (sensor-based solutions) และปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) เป็นหลัก ในการปลูกหน่อไม้ฝรั่ง สตรอเบอร์รี่ และมะเขือเทศ นอกจากนี้ เทคโนโลยีของบ๊อชยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความยั่งยืนให้กับการเลี้ยงหอยนางรมและฟาร์มปศุสัตว์อีกด้วย ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าธุรกิจเกษตรกรรมแบบดิจิทัลจะเติบโตมากกว่าร้อยละ 70 ภายในปี 2563

บ้านอัจฉริยะและเมืองอัจฉริยะ : ที่พักอาศัยเพื่อผู้คนหลายพันล้าน

บ๊อชเร่งสร้างโรงงานผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Wafer fab) ในเมืองเดรสเด็น เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีแห่งการขับเคลื่อนและ IoT และยังวางแผนการลงทุนเพิ่มมากกว่า 1 พันล้านยูโรสำหรับโรงงานแห่งใหม่นี้ภายในปี 2564 ตัวอย่างธุรกิจที่ใช้ประโยชน์จากแผงวงจรเหล่านี้ ได้แก่ บ้านอัจฉริยะ โดยในส่วนของครัวอัจฉริยะ บ๊อชไม่เพียงแต่มีเครื่องใช้ในครัวเรือนแบบเชื่อมต่อกันเท่านั้น แต่ยังให้บริการโปรแกรมดิจิทัลอีกด้วย ซึ่งเรียกว่า ระบบนิเวศที่เชื่อมต่อกับบ้าน (Home Connect ecosystem) ที่นำมารวมไว้ในแอปพลิเคชันเดียว สามารถใช้งานได้ 12 ภาษา พัฒนาโดยบริษัทสตาร์ทอัพที่ชื่อ Kitchen Stories ซึ่งแอปพลิชั่นที่ว่านี้มีการดาวน์โหลดแล้วกว่า 15 ล้านครั้ง โดยได้รวบรวมสูตรการทำอาหารกว่า 1,000 สูตร โดยใช้วีดิโอหรือรูปถ่ายเพื่อสาธิตวิธีการประกอบอาหาร ในงาน CES (Consumer Electronics Show 2018) ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีจากทั่วโลกซึ่งจัดขึ้นที่ลาสเวกัส บ๊อชได้เปิดตัวผลงานที่ยอดเยี่ยมในด้านเมืองแห่งการเชื่อมต่อกัน ซึ่งหนึ่งในนวัตกรรมที่นำเสนอคือ “Climo” หรือห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่สำหรับตรวจสอบคุณภาพอากาศ ที่สามารถแสดงข้อมูลคุณภาพของอากาศแบบเรียลไทม์ ภายในปี 2568 เมืองใหญ่ๆ บนโลกถึง 80 เมืองจะกลายเป็นเมืองอัจฉริยะ ซึ่งในปัจจุบัน บ๊อชได้เริ่มโครงการนำรองกว่า 14 โครงการแล้ว คาดการณ์ว่าธุรกิจเมืองอัจฉริยะจะมีมูลค่าตลาดกว่า 7 แสนล้านยูโรภายในปี 2563

การขับเคลื่อนในตัวเมือง (Urban mobility) : ไร้การปล่อยของเสีย ปลอดความกังวลใจ ไร้อุบัติเหตุ

ความเป็นเมือง (Urbanization) ย่อมมาพร้อมกับปัญหานานัปการ ภายในปี 2593 การจราจรในตัวเมืองจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ดร. เดนเนอร์ กล่าวว่า “เราต้องการสร้างสภาพการขับเคลื่อนในตัวเมืองที่ไร้การปล่อยมลพิษ ปลอดความกังวลใจ และไร้อุบัติเหตุ เราจึงต้องพัฒนาระบบอัตโนมัติที่ใช้พลังงานไฟฟ้า และเชื่อมต่อการจราจรบนถนนให้ครอบคลุมเพื่อบรรลุความตั้งใจนี้ให้ได้” ฤดูร้อนนี้ COUP ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการแบ่งปันกันใช้บริการเช่ารถจักรยานยนต์จะนำอี-สกู๊ตเตอร์ (e-scooter) ออกสู่ท้องถนนในกรุงมาดริด นอกจากนี้ ระบบขับขี่อัตโนมัติจะช่วยแบ่งเบาปัญหาของสภาพการจราจรในเมือง โดยจะเริ่มใช้ภายในช่วงต้นทศวรรษหน้านี้ ซึ่งบ๊อชร่วมมือกับเดมเลอร์ (Daimler) ผลิตยานพาหนะไร้คนขับและระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติอย่างสมบูรณ์ซึ่งสามารถใช้งานได้จริงบนท้องถนนต่างๆ ในเมือง โดยจะทดลองครั้งแรกบนท้องถนนจริงในช่วงต้นปี 2561 ทั้งนี้ เมื่อปี 2560 บ๊อชและเดมเลอร์ได้เข้าใกล้การขับขี่อัตโนมัติอีกก้าว ด้วยการใช้โรงจอดรถภายในพิพิธภัณฑ์ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ที่ตั้งอยู่ในเมืองชตุ๊ทการ์ต เปิดตัวโซลูชั่นส์การหาที่จอดและจอดรถด้วยระบบอัตโนมัติเป็นครั้งแรกของโลก (automated valet parking service)

ระบบส่งกำลังรถยนต์แห่งอนาคต : เสริมพลังการขับเคลื่อนด้วยเซลล์เชื้อเพลิง

บ๊อชได้ผ่านก้าวย่างที่สำคัญในปี 2560 ด้านการขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า โดยเริ่มการผลิตแบตเตอรี่ 48 โวลต์ที่พัฒนาให้ง่ายต่อการนำไปติดตั้งในยานพาหนะแห่งอนาคต สำหรับยานยนต์ระบบไฮบริด ดังนั้น ผู้ผลิตยานยนต์และบริษัทสตาร์ทอัพต่างๆ จึงไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณที่สูงและใช้เวลายาวนานสำหรับกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่นเดียวกับกรณีของเพลาไฟฟ้า (electric axle drive หรือ e-axle) ของบ๊อช ที่จะเริ่มใช้ในปี 2562 เพื่อเพิ่มสมรรถภาพให้กับรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า ดร. เดนเนอร์ กล่าวว่า “บ๊อชมุ่งพัฒนาการขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า (electromobility) เราได้รับคำสั่งซื้อสินค้าจำนวนมากในปี 2560 โดยบางคำสั่งซื้อมีมูลค่าหลายพันล้านยูโรเลยทีเดียว” นอกจากนี้ บ๊อชร่วมมือกับบริษัท Nikola Motor ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติอเมริกัน เพื่อร่วมพัฒนาเพลาไฟฟ้าที่ใช้พลังงานไฮโดรเจน (hydrogen-powered e-axle) สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ “ไม่เกินปี 2573 เซลล์เชื้อเพลิงจะมีบทบาทสำคัญในระบบส่งกำลังรถยนต์อย่างแน่นอน เราจึงเร่งผลักดันโครงการพัฒนาต่างๆ พร้อมขยับขยายพอร์ตโฟลิโอผลิตภัณฑ์ของเราอย่างค่อยเป็นค่อยไป” ดร. เดนเนอร์กล่าว ประเทศจีนเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของธุรกิจการขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า บ๊อชจึงร่วมมือกับบริษัท Weichai ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์เพื่อรถบรรทุก ริเริ่มโครงการนำร่องเพื่อการพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงที่ใช้สำหรับรถบรรทุก ซึ่งดร. เดนเนอร์อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า “ถ้าจะกล่าวถึงธุรกิจการขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า นับตั้งแต่จักรยานไปจนถึงรถบรรทุก ต้องยอมรับว่าไม่มีผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใดที่มีความหลากหลายครอบคลุมเท่าบ๊อชอีกแล้ว”

วิสัยทัศน์ที่ก้าวหน้าทางเทคโนโลยี : เครื่องยนต์ชนิดเผาไหม้โดยไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (carbon-neutral combustion engine)

ดร. เดนเนอร์เน้นย้ำความสำคัญและศักยภาพของเครื่องยนต์ชนิดเผาไหม้ว่า “แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในยุโรป โดยไม่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล“ ดร. เดนเนอร์ได้ชี้แจงระหว่างการอภิปรายที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ว่าด้วยเรื่องการรณรงค์ห้ามขับขี่ด้วยยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลว่า มีเทคโนโลยีด้านเครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและได้ประสิทธิภาพอยู่จริง และไม่เพียงเท่านั้น “ในวันนี้ ยานยนต์ที่ใช้ทดสอบของเรา บรรลุมาตรฐานที่ตั้งไว้สำหรับปี 2563 แล้ว นอกจากนี้ เรายังได้พัฒนาและทดสอบระบบต่างๆ ที่ได้มาตรฐานตามข้อจำกัดเหล่านี้แล้ว” ดร. เดนเนอร์ กล่าวในฐานะผู้รับผิดชอบการค้นคว้าวิจัยและวิศวกรรมศาสตร์ที่ทันสมัย ทีมวิศวกรของบ๊อชมีเป้าหมายอันแรงกล้าในการออกแบบเครื่องยนต์ชนิดเผาไหม้ที่ ‘พ่น’ ออกแต่เฉพาะสิ่งที่ ‘สูบ’ เข้าไปเท่านั้น สำหรับคุณภาพอากาศในบรรยากาศนั้น ถ้าไม่นับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สิ่งที่เครื่องยนต์ชนิดนี้ปล่อยออกมาแทบจะไม่ต่างไปจากอากาศโดยรอบเลย โดยเมื่อเครื่องยนต์ใช้เชื้อเพลิงเหลวหรือเชื้อเพลิงสังเคราะห์ (synfuels) จะช่วยชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของเครื่องยนต์ (carbon-neutral)

วัฒนธรรมแห่งนวัตกรรม (Innovation culture) : การขับเคลื่อนสู่การเชื่อมต่อกัน (connectivity)

“การเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลในธุรกิจจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมขององค์กร” ดร. เดนเนอร์ กล่าว “เรากำลังปรับแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นผู้นำและความร่วมมือกัน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับวัฒนธรรมด้านนวัตกรรมของเรา” ในหลายหน่วยการทำงานของบ๊อช บริษัทฯ เริ่มทลายระบบการปฏิบัติงานตามลำดับชั้นแบบสมัยก่อน รวมถึงเริ่มทำลายเส้นกั้นระหว่างแผนกต่างๆ และเส้นกั้นการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ในองค์กร ทั้งนี้ บริษัทฯ สามารถกำจัดระบบการทำงานที่ยุ่งยากล่าช้า ซึ่งมักเกิดขึ้นในองค์กรขนาดใหญ่ ออกไปได้มากกว่า 2 ใน 3 ส่วน และยกเลิกการให้โบนัสรายบุคคล ดร. เดนเนอร์เชื่อว่าวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรม (culture of innovation) ของบ๊อช จะสร้างจุดแข็งที่ชัดเจนให้กับบริษัทฯ “เราโชคดีที่มีบุคลากรที่มีความกระตือรือร้นพร้อมพัฒนาเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา”

การเติบโตของธุรกิจในปี 2560 จำแนกตามกลุ่มธุรกิจ

ทุกกลุ่มธุรกิจต่างมีการดำเนินงานที่ดี ส่งผลต่อการเติบโตที่ยอดเยี่ยมของธุรกิจในปี 2560 จากข้อมูลตัวเลขเบื้องต้นพบว่า ยอดขายของกลุ่มธุรกิจโซลูชั่นแห่งการขับเคลื่อน (Mobility Solutions) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเติบโตมากกว่าการผลิตยานยนต์ทั่วโลกถึง 3 เท่า โดยมียอดขายทะลุ 4.74 หมื่นล้านยูโร และเมื่อปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว พบว่าเติบโตขึ้นร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งความสำเร็จนี้เกิดจากความต้องการใช้ระบบหัวฉีดเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ดีเซลที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากภาคยานยนต์เชิงพาณิชย์ ที่มีความต้องการใช้ระบบหัวฉีดเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์แก๊สโซลีน รวมทั้งระบบผู้ช่วยขับขี่ และระบบข้อมูลเพื่อความบันเทิง สำหรับกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค BSH Hausgeräte และกลุ่มสินค้าเครื่องมือไฟฟ้ามียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 1.85 หมื่นล้านยูโร โดยหลังปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว พบว่ายอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 จากปีก่อนหน้า นับว่า BSH Hausgeräte มีผลการดำเนินงานที่ดีในปี 2560 เพื่อฉลองครบรอบ 50 ปีของการก่อตั้งบริษัทด้วย กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มีการเติบโตที่แข็งแกร่งที่ร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยยอดขายอยู่ที่ 6.7 พันล้านยูโร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 จากปีก่อนหน้า หลังปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว โดยมีแผนกเทคโนโลยีเพื่อการขับขี่และควบคุมที่ช่วยสร้างการเติบโตที่ยอดเยี่ยมเป็นหลัก ส่วนกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานและอาคาร มียอดขายอยู่ที่ 5.4 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 จากปีก่อนหน้า หรือเมื่อปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 จากปีก่อนหน้า โดยแผนกระบบเทคโนโลยีความร้อนและระบบรักษาความปลอดภัย สามารถครองใจลูกค้าด้วยโซลูชั่นส์แห่งการเชื่อมต่อสำหรับระบบทำความร้อนและระบบปรับอากาศ รวมทั้งเทคโนโลยีอัจฉริยะสำหรับระบบอัตโนมัติ และการรักษาความปลอดภัยสำหรับอาคาร

การเติบโตของธุรกิจในปี 2560 จำแนกตามภูมิภาค

ในทวีปยุโรป ธุรกิจของกลุ่มบ๊อชเติบโตขึ้น โดยมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 จากปีก่อนหน้า (หรือร้อย 6.3 จากปีก่อนหน้า เมื่อปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว) โดยตัวเลขสูงถึง 4.07 หมื่นล้านยูโร ซึ่งหนึ่งในสาเหตุสำคัญมาจากการที่ธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องในยุโรปตะวันตกและยุโรปตอนกลาง สำหรับทวีปอเมริกาเหนือ การเติบโตทางธุรกิจหลังจากการปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนค่อนข้างเท่ากับปีที่ผ่านมา ด้วยยอดขาย 12.1 พันล้านยูโร ลดลงร้อยละ 2.3 จากปีก่อนหน้า ส่วนทวีปอเมริกาใต้ เศรษฐกิจของภูมิภาคฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อยู่ที่ 1.6 พันล้านยูโร โดยเมื่อปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 จากปีก่อนหน้า และสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกา ธุรกิจมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยมียอดขายทะลุ 23.6 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านี้ถึงร้อยละ 14 หรือร้อยละ 17 หลังปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว

จำนวนพนักงานเพิ่มขึ้น : รวมมีพนักงานมากกว่า 400,000 คน

ในปี 2560 จำนวนพนักงานของกลุ่มบริษัทบ๊อชทั่วโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 11,200 คน โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 พบว่า กลุ่มบริษัทบ๊อชมีพนักงาน 400,500 คน ซึ่งบริษัทฯ มีผู้เชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์และไอทีหลายพันคนทั่วโลก บริษัทฯ ยังเพิ่มจำนวนพนักงานในเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งในยุโรปตะวันออกและยุโรปตอนกลาง ส่วนในประเทศเยอรมนี มีพนักงานเพิ่มขึ้นจำนวน 3,800 คน

การคาดการณ์ในปี 2561 : ยอดขายและผลประกอบการดีขึ้น แม้อยู่ในช่วงสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

บ๊อชคาดการณ์ว่า ในปี 2561 เศรษฐกิจทั่วโลกจะเติบโตขึ้นในระดับปานกลาง ราวร้อยละ 2.5 โดยภาพรวม บ๊อชซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเทคโนโลยีและบริการชั้นนำของโลก เล็งเห็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมากมาย เนื่องจากพัฒนาการด้านภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical development) อาทิ การการเจรจาเพื่อออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit negotiation) นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และความตึงเครียดจากเกาหลีเหนือ บ๊อชจึงคาดการณ์ว่าการเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์แวดล้อมจะไม่เอื้ออำนวยนัก แต่กลุ่มบริษัทบ๊อชยังตั้งเป้าเพิ่มยอดขายและผลประกอบการในปี 2561 รวมทั้งมุ่งมั่นพัฒนาปรับเปลี่ยนองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรด้าน IoT และผู้ให้บริการด้านโซลูชั่นส์แห่งการขับเคลื่อนชั้นนำระดับโลก

บ๊อชในประเทศไทย (About Bosch in Thailand)

บ๊อชได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2466 ปัจจุบัน บ๊อชสร้างความหลากหลายในธุรกิจถึงสี่ด้าน ได้แก่ โซลูชั่นส์แห่งการขับเคลื่อน เทคโนโลยีอุตสาหกรรม สินค้าอุปโภคบริโภค และเทคโนโลยีพลังงานและอาคาร บริษัทมีโรงงานผลิตในธุรกิจโซลูชั่นส์แห่งการขับเคลื่อนถึงสามแห่ง พร้อมทั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา อีกทั้งสำนักงานขายและศูนย์บริการสำหรับอุปกรณ์ไฮดรอลิกและเครื่องจักรในจังหวัดระยอง และสายการผลิตโซลูชั่นส์และการบริการส่วนเครื่องจักรเพื่อบรรจุภัณฑ์ในจังหวัดชลบุรี ในปี 2559 บ๊อชในประเทศไทยมียอดขาย 11.9 พันล้านบาท (305 ล้านยูโร) และมีพนักงานมากกว่า 1,200 คน

  • date : 27-03-2018