“สมจิณณ์” นั่งเก้าอี้ผู้ว่าการนิคมฯคนใหม่

ผู้ว่า กนอ.ใหม่ กำหนดกรอบทำงานปี 2562 ใน 2 ประเด็นหลัก คือ พัฒนานิคมฯ ให้สอดรับอุตสาหกรรมที่ผลักดันประเทศโต และยกระดับให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ขณะเดียวกันระบุแผนงานหลัก 3 ด้าน ส่งเสริมการลงทุนโซนภาคตะวันออก เด่นๆ คือ การเปิดท่าเรือมาบตาพุดแห่งที่ 3 และนิคมฯ สมาร์ทปารค์

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2562 ของ กนอ. ยังคงมุ่งส่งเสริมและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมให้สามารถรองรับนักลงทุนและกลุ่มอุตสาหกรรมในทุกประเภท ซึ่ง กนอ.ได้กำหนดวิสัยทัศน์ที่จะเป็นองค์กรหลักที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยเน้นภาคอุตสาหกรรมและบริการสู่อนาคตที่ยั่งยืน โดยภายใต้วิสัยทัศน์ดังกล่าว มีสิ่งที่ต้องขับเคลื่อนให้เกิดขึ้น 2 ประการ ได้แก่ 1.การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมให้รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่ตอบสนองเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศ โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน (SEZ) และ 2.การยกระดับนิคมอุตสาหกรรมให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

สำหรับการพัฒนานิคมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้วางแนวทางการพัฒนาไว้ดังนี้ 1.ส่งเสริมนิคมฯ ให้เป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อต้องการให้แต่ละนิคมฯ มีการพัฒนาพื้นที่ในนิคมฯ ให้มีความทันสมัย เช่น การจัดทำเขตนวัตกรรม หรือเขตนวัตกรรมดิจิทัล ฯลฯ  ซึ่งในปัจจุบันได้มีการประกาศเป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม สำหรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายแล้วจำนวน 21 แห่ง  2.การพัฒนาเมกะโปรเจค ได้แก่ ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปารค์ใน จ.ระยอง โดยขณะนี้ในส่วนของท่าเรือฯมาบตาพุดได้ผ่านการเห็นชอบหลักการของโครงการฯ เมื่อประมาณเดือนกันยายน 2561เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และพร้อมจะประกาศเชิญชวนนักลงทุนประมาณเดือนตุลาคม 2561 และได้เอกชนร่วมลงทุนประมาณเดือนมกราคม 2562 โดยกนอ.จะเร่งจะเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบให้ทันภายในปี 2568

ส่วนทางด้านนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปารค์ ปัจจุบันได้ทำการยื่นรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วในเดือนมิถุนายน 2561 แล้ว และคาดว่าใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1 ปี หรือช่วงต้นปี 2563 ซึ่งแผนต่อไป หลังจากได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ทางโครงการจะดำเนินการจัดจ้างผู้รับเหมาก่อสร้าง และเริ่มก่อสร้างในช่วงปลายปี 2563 คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้าง 2 ปี และเปิดดำเนินการได้ทันประมาณช่วงปลายปี 2565

3.การร่วมมือกับเอกชนในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เอกชนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานกับ กนอ. เพื่อขยายฐานการผลิตและลงทุนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยในปีที่ผ่านมาได้พัฒนาเพิ่มไปแล้ว 5 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง 33 นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ นิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี และนิคมอุตสาหกรรมแพรกษา

สำหรับผลประกอบการจากการดำเนินงานของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2561 (ต.ค.60 – มี.ค.61) พบว่ามียอดพื้นที่ขาย / เช่า จำนวน 827 ไร่ มีเงินลงทุนรวมกว่า 16,400 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานกว่า 1,868 คน โดยการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจสูงสุด ได้แก่ อุตสาหกรรมคลังสินค้า ยาง พลาสติก และหนังเทียม ยานยนต์และการขนส่ง เครื่องยนต์ เครื่องจักร และอะไหล่ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา พบว่า 5 อันดับนักลงทุนต่างชาติที่มีการลงทุนมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์

กนอ.ได้คาดการณ์ถึงแนวโน้มการลงทุนใหม่ในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้ จะเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 5 -10 % หรือประมาณ 18,000 ล้านบาท โดยมีปัจจัยดึงดูดสำคัญ อาทิ การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ เช่น โครงการรถไฟทางคู่ และโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ความคืบหน้าของนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน ที่จะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่เน้นการใช้ประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ CLMV โดยเฉพาะนิคมฯ ยางพารา และนิคมฯ สระแก้ว ที่พร้อมเปิดอย่างเป็นทางการภายในปลายปีนี้

ปัจจุบัน กนอ. มีนิคมอุตสาหกรรม 56 แห่ง ใน 16 จังหวัด โดยมีพื้นที่สำหรับขาย / เช่า (รวมพื้นที่ระบบสาธารณูปโภค) ประมาณ 166,063 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่ขายและเช่าแล้วจำนวน 87,718 ไร่ และคงเหลือพื้นที่พร้อมสำหรับขาย / เช่า อีกจำนวน 20,695 ไร่ สำหรับมูลค่าการลงทุนสะสมทั้งสิ้น 3.149 ล้านล้านบาท มีผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม4,583 ราย และมีการจ้างงานรวมทั้งสิ้น 607,102 คน

  • date : 16-11-2018