กสอ.อัดงบกว่า 800 ล้าน เข้มมาตรการ “การตลาด – นวัตกรรม” กระตุ้นอุตฯ ปี 62

พร้อมหนุน 4 โค้ช ติวเข้มศักยภาพ ผปก. ครบวงจร

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เผยงบประมาณเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ปี 2562 รวมกว่า 800 ล้านบาท โดยมี 80 โครงการที่ใช้ในการช่วยเหลือและพัฒนาผู้ประกอบการทั่วประเทศครบทุกมิติ ชี้การดำเนินงานที่สำคัญในปีถัดไปจะอยู่ภายใต้นโยบาย “From Local to Global” by Marketing and Innovation หรือการผลักดันให้ผู้ประกอบการก้าวสู่ระดับภูมิภาคและระดับโลก ด้วยกระบวนการที่สำคัญ 2 รูปแบบ คือ การตลาดนำการส่งเสริม และนวัตกรรมนำการส่งเสริม เพื่อสร้างความสมดุลระหว่าง ความต้องการผลิตสินค้ากับความต้องการของตลาด รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าและบริการด้วยงานวิจัย เทคโนโลยี และแพลทฟอร์มใหม่ ๆ ที่จะเป็นตัวช่วยในทางธุรกิจ นอกจากนี้ การดำเนินงานในปีถัดไป ยังจะมีลักษณะเหมือน “โค้ช” ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ชี้แนวทางปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ และที่ปรึกษาปัญหาเฉพาะด้าน 4 กลุ่ม ได้แก่ โค้ชเตรียมความพร้อมสู่ยุค 4.0 โค้ชการค้า การขาย และช่องทางจำหน่ายในตลาด             โค้ชสนับสนุนด้านสินเชื่อและเงินทุน  และโค้ชเชื่อมโยง SMEs สู่ระดับโกลบอล

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562                       กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ กว่า 800 ล้านบาท โดยมี 80 โครงการ เพื่อใช้ในการช่วยเหลือและพัฒนา SMEs ประมาณ 5,000 กิจการ พัฒนาผู้ประกอบการ/บุคลากรอุตสาหกรรม ประมาณกว่า 25,000 คน พัฒนาวิสาหกิจชุมชนกว่า 2,000 ราย ยกระดับผลิตภัณฑ์และการบริการอีกประมาณกว่า 2,000 รายการ คาดว่าการส่งเสริมทั้งหมดจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินงานที่สำคัญในปีถัดไปจะอยู่ภายใต้นโยบาย “From Local to Global” by Marketing and Innovation คือผลักดันให้ผู้ประกอบการก้าวสู่ระดับภูมิภาค และระดับโลกมากขึ้นด้วยกระบวนการที่สำคัญ 2 รูปแบบ ได้แก่

  • การตลาดนำการส่งเสริม ซึ่งเป็นแนวคิดด้านการบริหารจัดการ เพื่อให้ปริมาณการผลิตและความต้องการสินค้าต่าง ๆ เกิดความสมดุล พร้อมช่วยลดปัญหาการสต็อกสินค้าและสินค้าล้นตลาด ซึ่ง กสอ.จะมุ่งให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการทำน้อยให้ได้มาก เปลี่ยนแนวคิดการผลิตจากเดิมที่หวังผลผลิตสูงสุดเป็นกำไรสูงสุด  โดยมีแนวทางปฏิบัติที่ทั้งในด้านบุคลากรและการสร้างแพลทฟอร์มต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ได้แก่ การผลักดัน  สู่ช่องทางการค้าออนไลน์ เช่น อาลีบาบา ลาซาด้า
    ซึ่งปี 2562 ได้ตั้งเป้าให้ SMEs เข้าสู่ช่องทางดังกล่าวไม่น้อยกว่า 10,000 ราย กิจกรรมส่งเสริมการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อสร้างแบรนด์สำหรับธุรกิจ อาทิ วิดีโอ อินฟลูเอนเซอร์การสอนถ่ายภาพเพื่ออีคอมเมิร์ซ พัฒนาอี-แคตตาล็อกบนเว็บไซต์เพื่อโปรโมทสินค้า ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น สนับสนุนการใช้บิ๊กดาต้า เช่น ฐานข้อมูลเพื่อการจับคู่ธุรกิจบน T-Goodtech , J-Goodtech 
    การให้ข้อมูลเรื่องเทรนด์ หรือกระแสความเปลี่ยนแปลงของตลาดทั้ง micro moment หรือพฤติกรรมรายวัน รายเดือน รายหกเดือน ฯลฯ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาสินค้าให้มีรูปแบบที่หลากหลายขึ้น
  • นวัตกรรมนำการส่งเสริม ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของเอสเอ็มอีด้วยการนำผลงานวิจัยหรือกระบวนการใหม่ ๆ มาใช้รังสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ เช่น การเชื่อมโยงความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในการนำงานวิจัยไปต่อยอดสินค้า หรือพัฒนาเป็นธุรกิจใหม่ การสนับสนุนเงินทุนเพื่อพัฒนานวัตกรรมอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของแต่ละพื้นที่ เช่น อาหารแห่งอนาคต เกษตรแปรรูป ผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยว ฯลฯ การพัฒนาแพลทฟอร์มเพื่อเป็นตัวช่วย ในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ อาทิ แอปพลิเคชั่นเพื่อการจัดทำบัญชี แอปพลิเคชั่นท่องเที่ยวหมู่บ้าน CIV การผลักดันการเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนานวัตกรรมกับภาคเอกชนขนาดใหญ่ หน่วยงานส่งเสริมนวัตกรรม และสถาบันการเงิน พร้อมด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์อย่างจริงจัง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ยังจะมีการใช้พื้นที่บริเวณย่านกล้วยน้ำไทให้เป็นศูนย์รวมการบริการด้านนวัตกรรมที่ครบวงจร โดยความร่วมมือของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นต้น 

นายกอบชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การส่งเสริมผู้ประกอบการของ กสอ.ในปีถัดไป ยังจะมุ่งเน้นการดำเนินงานให้มีลักษณะเหมือน “โค้ช” ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ชี้แนวทางปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ การถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ที่จำเป็นต่าง ๆ เป็นที่ปรึกษาหรือพี่เลี้ยงทั้งปัญหาทั่วไปและปัญหาเฉพาะด้าน โดยได้วาง “โค้ช” ไว้ 4 กลุ่มได้แก่

1.โค้ชเตรียมความพร้อมสู่ยุค 4.0 โดยในกลุ่มนี้จะใช้ผู้เชี่ยวชาญ บริการและเครื่องมือที่ทันสมัยพัฒนาให้ SMEs รู้จักกระบวนการทางธุรกิจที่ก้าวหน้ามากกว่าองค์ความรู้เดิมๆ โดยเฉพาะด้านนวัตกรรม การแปรรูป และการออกแบบ เช่น ศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี (SSRC) ศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thai-IDC) ศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรม (BSC) รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมแห่งอนาคตระดับจังหวัด (Mini ITC) ที่จะให้ความช่วยเหลือและต่อยอดธุรกิจผู้ประกอบการได้ครบทุกพื้นที่

2.โค้ชการค้า การขาย และช่องทางจำหน่ายในตลาด ซึ่งจะมุ่งเน้นการให้ความรู้ผ่านการฝึกอบรมต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ เช่น หลักสูตรเชิงปฏิบัติการด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเพิ่มยอดขายการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยและบริษัททั่วโลก โดยยังจะมีการผลักดันเข้าสู่ช่องทางใหม่ ๆ ที่สามารถรองรับการจัดจำหน่ายได้จริง เช่น J-Goodtech /Lazada/Alibaba

3.โค้ชสนับสนุนด้านสินเชื่อและเงินทุน โดยจะให้คำปรึกษาและการฝึกปฏิบัติด้านการเขียนแผนธุรกิจ เพื่อขอรับทุนการให้องค์ความรู้เรื่องหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการยื่นคำขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน เพื่อให้ SMEs มีขีดความสามารถทางธุรกิจโดยเฉพาะการเพิ่มมูลค่าสินค้าและการบริการในทิศทางที่ดีขึ้น พร้อมกันนี้ กสอ.ยังมีสินเชื่อเพื่อให้บริการกับผู้ประกอบการทั่วประเทศ ได้แก่ กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินคนตัวใหญ่ คงเหลือ 750 ล้านบาท และคนตัวเล็ก คงเหลือ 3,100 ล้านบาท ส่วนเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทยของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีจำนวน 100 ล้านบาท

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 022024414 - 17หรือ เข้าไปที่ www.dip.go.th

  • date : 16-11-2018