ทุ่งคาฯ ดึงพลังงานพาองค์กรโต

บมจ.ทุ่งคาฮาเบอร์ แตกสายธุรกิจสู่พลังงานทดแทน ล่าสุด COD โครงการโซลาร์สหกรณ์พูนสุข ที่ชุมพรแล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งใช้เงินลงทุนกว่า 225 ล้านบาท ส่วนการผลิตไฟฟ้าจากขยะ จะแล้วเสร็จปลายปี’62 ตั้งธงภายใน 5 ปี จะผลิตไฟฟ้าให้ได้ 100 เมกะวัตต์ มีรายได้เข้ามาประมาณ 1 พันล้าน

เมื่อช่วงไตรมาสแรกปี 2561 บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) (THL) แจ้งว่าบริษัท ทีเอชแอล พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ 98 ได้เข้าลงทุนในบริษัท สวัสดี เอ็นเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (สวัสดี) ที่เป็นผู้ได้รับสิทธิการเข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายในโครงการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนโครงการสหกรณ์การเกษตร พูนสุข จำกัด จังหวัดชุมพร โดยบจก. สวัสดี ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ล่าสุดเมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ พื้นที่สหกรณ์การเกษตรพูนสุข จังหวัดชุมพร ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ 50 ไร่ และใช้เงินลงทุนประมาณ 225 ล้านบาท ได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และสามารถเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD)

นายวิจิตร เจียมวิจิตรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) ได้เคยกล่าวไว้ว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย และประเทศในภูมิภาคอาเซียนจะเพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจพลังงานจะมีการเติบโตมากขึ้น และที่สำคัญธุรกิจผลิตไฟฟ้าเป็นธุรกิจที่มีรายได้ที่แน่นอนในระยะยาว รวมทั้งเป็นการสร้างการเติบโตให้กับบริษัทฯ ในอนาคตได้อย่างมั่นคง

            นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ คือ โครงการโซลาร์ฟาร์มของสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านตากแดด จำกัด จังหวัดพังงา ที่จังหวัดพังงา กำลังการผลิตติดตั้ง 5 เมกะวัตต์ บนพื้นที่ 50 ไร่ เงินลงทุนประมาณ 225 ล้านบาท โดยคาดว่าโครงการจะเริ่มก่อสร้างในต้นปี พ.ศ. 2561 และ COD ภายในปี  2561

            โครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจากชุมชน กำลังการผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์ เงินลงทุนประมาณ 1,800 ล้านบาท ซึ่งผลสำรวจข้อมูลปริมาณขยะในพื้นที่จำนวน 580 ตันต่อวัน ปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้ผ่านขั้นตอนการอนุมัติจากรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ก่อสร้างในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 และคาดว่าจะ COD ได้ภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2562

            ซีอีโอ บมจ.ทุ่งคาฮาเบอร์ บริษัทฯ ได้กำหนดแผนการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนภายใน 5 ปีนี้ (ปี 2560-2564) ตั้งเป้ากำลังการผลิตไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุน ประมาณ 5,000 ล้านบาท และคาดว่าจะสร้างรายได้จากธุรกิจนี้ประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยมีโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษา หลายโครงการ ทั้งในประเทศไทย และในต่างประเทศ ซึ่งจะเน้นการลงทุนในประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เป็นหลัก ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการโซลาร์ ฟาร์ม ที่ประเทศเวียดนาม จำนวน 2 โครงการ ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมประมาณ 60 เมกะวัตต์ และยังศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในต่างประเทศด้วย

ปัจจุบัน บริษัทฯ จะมี 3 ธุรกิจหลักที่สำคัญ ประกอบด้วย ธุรกิจเหมืองแร่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจพลังงานทดแทน อย่างไรก็ตาม สัดส่วนรายได้ของบริษัทฯ ในอนาคต ยังมาจากธุรกิจเหมืองแร่มากที่สุด เพราะเป็นธุรกิจหลัก แต่ธุรกิจพลังงานทดแทนจะมีสัดส่วนรายได้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

กลุ่มบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ตระหนักดีว่าการได้รับความเชื่อมั่น ไว้วางใจ ยอมรับและการสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้เสียโดยเฉพาะชุมชนรอบพื้นที่ดำเนินการเป็นสิ่งที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ดังนั้น ก่อนเริ่มพัฒนาโครงการของกลุ่มบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ได้สร้างการมีส่วนร่วมกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการศึกษาและประเมินผลกระทบทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และการกำหนดมาตรการในการป้องกันแก้ไขผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ตลอดจนการจัดทำแผนงานพัฒนาชุมชนให้สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียอย่างครบถ้วน

นอกจากกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว กลุ่มบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ยังมุ่งมั่นดำเนินงานด้านการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ด้วยการสร้างจิตสำนึกโดยเริ่มต้นจากภายในองค์กรและขยายสู่ชุมชนและสังคมโดยรอบ อีกทั้งให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่สีเขียวรอบพื้นที่ดำเนินการเพื่อคืนความสมดุลให้แก่ธรรมชาติให้คงอยู่ต่อไป แม้ว่าในอนาคตองค์กรจะไม่ได้ดำเนินการหรือย้ายอออกจากพื้นที่ดังกล่าวไปแล้ว กลุ่มบริษัททุ่งคาฮาเบอร์มีแผนการดำเนินการในหลายด้าน อาทิ การสร้างพื้นที่สีเขียวในสถานประกอบการ การปลูกป่า และการส่งเสริมการบริหารจัดการป่าชุมชนในทุกพื้นที่ที่บริษัทดำเนินงาน เป็นต้น

การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ นั้น มุ่งมั่นที่จะสร้างการเติบโตขององค์กรให้มั่นคงและยั่งยืนด้วยการทุ่มเทความสามารถอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรและควบคู่ไปกับการคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม อีกทั้งยังรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเหมืองแร่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่สำคัญของประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านวัตถุดิบสำหรับภาคอุตสาหกรรม และลดการนำเข้าแร่จากต่างประเทศ บริษัทฯ จึงได้กำหนดแผนกลยุทธ์สร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความยั่งยืนทางเศรษฐกิจขององค์กร โดยการกระจายลงทุนใปในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งแนวทางการดำเนินงานดังกล่าวนั้นไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อองค์กรเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมโดยรวมด้วย

  • date : 17-06-2019